Friday, July 23, 2010

การสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning)

http://www.bus.rmutt.ac.th/thai/journal/volume6/REPORT.DOC


บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านทักษะชีวิต (Life skill) ของนักศึกษาหลังจากได้รับการจัดการเรียนการสอน ด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning) กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544 จำนวน 30 คน และปีการศึกษา 2545 จำนวน 30 คน ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple sampling) วิธีการศึกษา ได้ดำเนินการทดลองการจัดการเรียนการสอน โดยใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมี ส่วนร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 พร้อมรวบรวมบันทึกข้อมูลเป็นระยะเวลาตลอดหลักสูตร โดยด้านความสามารถการเรียนรู้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลจากกลุ่มตัวอย่าง ปีการศึกษา 2544 ส่วนพัฒนาการด้านทักษะชีวิตศึกษาวิเคราะห์ผลตามระยะของข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน, ความแปรปรวนและการทดสอบค่าที (t – test Dependent & t – test Independent) โดยใช้โปรแกรม SPSS FOR WINDOWS.

ผลการศึกษา พบว่า การจัดการเรียนการสอน ด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมี ส่วนร่วม ทำให้นักศึกษามีความสามารถในการเรียนรู้สูงขึ้น โดยผลการเปรียบเทียบความแตกต่าง ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านพุทธิพิสัยและด้านจิตพิสัย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 ส่วนพัฒนาการด้านทักษะชีวิตพบว่า หลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม นักศึกษามีพัฒนาการทักษะชีวิตสูงขึ้นกว่าระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เช่นเดียวกัน



รายงานผลการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม
เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้
และทักษะชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี
สาขาวิชาการจัดการ



นภกานต์ สุคันธารุณ



สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ


THE STUDY ON THE RESEARCH PROJECT:
“PARTICIPATION LEARNING”
EDUCATIONAL PROGRAM FOR
THE IMPROVEMENT OF UNDERGRADUATE STUDENTS’ LEARNING ABILITY AND LIFE SKILLS OF BACHELOR DEGREE IN MANAGEMENT







Nopkarn Sucantharuna




RAJAMANGALA INSTITUTE OF TECHNOLOGY
CHAKRAPONGPHUVANARTH CAMPUS

สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนการสอน วิชาการจัดการสำนักงาน ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ-การจัดการทั่วไป ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แผนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า ดังนี้

1. เพื่อศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ของนักศึกษาหลังสิ้นสุดการจัดกระบวนการเรียน
การสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน
2. เพื่อศึกษาพัฒนาการทักษะชีวิตของนักศึกษาที่ได้รับการจัดกระบวนการเรียนการสอน
ด้วยแผนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน

ขอบเขตของการศึกษา

1. กลุ่มประชากร

ประชากรที่ใช้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ - การจัดการทั่วไป ชั้นปีที่ 1 ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ดังนี้

1.1 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 35 คน รวมจำนวน 105 คน
1.2 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 35 คน รวมจำนวน 105 คน

2. กลุ่มตัวอย่าง


กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ - การจัดการทั่วไป ชั้นปีที่ 1 ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple sampling) จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 10 คน เพื่อเป็นตัวแทน ได้ดังนี้

2.1 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 29
2.2 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 29



ระยะเวลาในการศึกษา

ระยะเวลาในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2545 ตลอดภาคเรียน รวมจำนวน 18 สัปดาห์

ตัวแปรที่ศึกษา

1. ตัวแปรต้น ได้แก่
การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

2. ตัวแปรตาม ได้แก่
2.1 ความสามารถในการเรียนรู้
2.2 พัฒนาการทักษะชีวิต (Life Skills)

สรุปผลการศึกษา

การศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านทักษะชีวิตของนักศึกษา ด้วยการจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม สรุปผลการศึกษา ได้ดังนี้

1. ความสามารถในการเรียนรู้

ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอน ด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาการจัดการสำนักงานสูงกว่านักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทั่วไป ซึ่งเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งสรุปได้ว่า การจัดกระบวนการเรียน การสอนด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม สามารถพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้สูงขึ้นในด้านต่าง ๆ คือ

1.1 ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

นักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม
มีความสามารถในการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยสูงกว่านักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทั่วไป (มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01)

อนึ่ง ความสามารถด้านพุทธิพิสัย ที่ได้จากการเปรียบเทียบความแตกต่างผลการทดสอบกลางภาคเรียน พบว่า ไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 คือนักเรียนทั้งสองกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม และกลุ่มที่ใช้แผนการสอนแบบปกติทั่วไป มีความสามารถทำการทดสอบกลางภาคเรียนได้ใกล้เคียงกัน แต่หลังสิ้นสุดการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรของวิชาการจัดการสำนักงาน นักศึกษากลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีผลการทดสอบปลายภาคเรียนสูงกว่านักศึกษากลุ่มที่ผ่านการเรียนการสอนโดยใช้แผนการสอนแบบปกติทั่วไป ( ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 )

1.2 ด้านจิตพิสัย (Effective Domain)

ด้านจิตพิสัย พบว่า นักศึกษากลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีคุณภาพด้านจิตพิสัยสูงกว่านักศึกษาที่ผ่านการจัดการเรียน การสอนด้วยการใช้แผนการสอนแบบปกติทั่วไป ( มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 )

2. พัฒนาการทักษะชีวิต (Life Skills)

ผลจากการศึกษาพบว่า นักศึกษาเมื่อได้รับการจัดการเรียนการสอน วิชาการจัดการสำนักงาน ด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีพัฒนาทักษะชีวิตสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับพัฒนาการทักษะชีวิต ระยะเริ่มต้นใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมกับหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนฯ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (ระยะเริ่มต้นการใช้แผนอยู่เกณฑ์ต่ำหลังสิ้นสุดการใช้แผนอยู่ระดับเกณฑ์สูงมาก) โดยระยะเริ่มต้นของการใช้แผนระดับพัฒนาการทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ทุกด้านอยู่ในเกณฑ์ต่ำโดยมีด้านการสร้างสัมพันธ์ภาพ / การสื่อสารมีค่าน้อยกว่าทุกด้าน แต่เมื่อหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ของนักศึกษาได้พัฒนาขึ้นไปอยู่ในเกณฑ์สูง และสูงมากเรียงอันดับได้ ดังนี้

อันดับที่ 1 ทักษะชีวิตด้านความคิดสร้างสรรค์ ( = 4.80 ) ระดับเกณฑ์สูงมาก
อันดับที่ 2 ทักษะชีวิตด้านความคิดวิเคราะห์ – วิจารณ์ ( = 4.70) ระดับเกณฑ์
สูงมาก
อันดับที่ 3 ทักษะชีวิตด้านการสร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสาร ( = 4.60) ระดับ
เกณฑ์สูงมาก และเน้นด้านที่มีการพัฒนาจากระดับเดิมขึ้นไปได้สูงสุด
อันดับที่ 4 ทักษะชีวิตด้านความตระหนักรู้ในตนเอง ( = 4.30) ระดับเกณฑ์สูง
อันดับที่ 5 ทักษะด้านความสามารถการจัดการ ( = 4.23) ระดับเกณฑ์สูง
ระดับการพัฒนาทักษะชีวิตจากการศึกษาพบว่า มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอนไปช่วงระยะกลาง จนถึงช่วงสุดท้ายของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยระดับของการพัฒนาทักษะชีวิตแต่ละด้านมีดังนี้

2.1 ระดับของการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านความคิดวิเคราะห์ – วิจารณ์ และด้านการสร้างสัมพันธ์ภาพ /การสื่อสาร มีระดับของการพัฒนาเพิ่มขึ้นที่ใกล้เคียงและไปในทิศทางเดียวกัน คือ ช่วงระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอน ไปจนถึงช่วงระยะกลางของการใช้แผนการสอนฯ นักศึกษามีการพัฒนาทักษะชีวิตด้านความคิดสร้างสรรค์และด้านความคิดวิเคราะห์–วิจารณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความสม่ำเสมอต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ส่วนช่วงระยะสุดท้ายของการใช้แผนการสอน ระดับการพัฒนายังคงเพิ่มขึ้นโดยตลอด แต่ปริมาณของการเพิ่มขึ้นไม่รวดเร็วเหมือนระยะเริ่มแรกและช่วงระยะกลางของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

2.2 ระดับของการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านความตระหนักรู้ในตนเอง มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอนจนถึงระยะสุดท้ายของการใช้แผนการสอน ระดับการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมีความสม่ำเสมอโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

2.3 ระดับของการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านความสามารถการจัดการมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ช่วงที่มีระดับการพัฒนาสูงเป็นช่วงระยะกลางของการใช้แผนการสอน ส่วนช่วงระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอน และระยะสุดท้ายของการใช้แผนการสอน มีระดับการพัฒนาเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน ปริมาณของการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นไม่รวดเร็วเหมือนระยะกลางของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

อภิปรายผล

การศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านทักษะชีวิตของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ-การจัดการทั่วไป ด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ผลที่ได้จากการศึกษา มีประเด็นที่ควรนำมาอภิปราย ดังนี้

1. ความสามารถในการเรียนรู้ ผลที่ได้จากการศึกษาจะเห็นได้ว่า กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการเปรียบเทียบความแตกต่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้นักศึกษา หลักสูตรปีการศึกษา 2544 ที่จัดการเรียนการสอนแบบปกติทั่วไป กับนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 กลุ่มทดลองที่ใช้แผนการสอนเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้แบบผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้พัฒนาครบทั้งด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ด้านจิตพิสัย (Effective) ด้านทักษะพิสัย ( Psychomotor Domain ) เป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด เพราะแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย สาระกิจกรรม แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียน การวัดประเมินผลที่มุ่งพัฒนาคนและชีวิต ให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543 : 20) เนื่องจากเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียน สามารถคิดค้นหาคำตอบและสร้างคำถามเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองซึ่งตรงตามหลักการเรียนรู้ตามพระพุทธศาสนา พระธรรมปิฎก, ( ป.อ. ปยุตโต, 2540 : 14 - 17 ) และตามปรัชญาการสร้างความรู้ (Constructivism) ที่ว่าผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังตรงตามแนวคิดของ จอห์น ดิวอี้ ( John Dewey ) ที่ว่า
“ การเรียนรู้โดยการกระทำ หรือ Learning by Doing ” (Dewey, 1963)


ปริมาณของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดกิจกรรม สามารถจัดได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และกระบวนการของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งผู้สอนได้ทำการศึกษาวิเคราะห์กิจกรรมการเรียนการสอน และมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้เรียนตามโอกาส สถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอหรือไม่ กิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องมีการประเมินคุณค่าใน 4 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ถือว่าเป็นด้านที่มีความสำคัญ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนรู้ ถ้า กิจกรรมการเรียนการสอน สามารถจัดให้ผู้เรียนมีอารมณ์ร่วมได้เท่าไร ความสามารถในการเรียนรู้ก็จะสูงขึ้นเท่านั้น ( ประเวศ วะสี, 2543 : ก ) ( ทิศนา แขมมณี, 2543 : 2-3 ) เพราะหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม คือการเรียนให้ “รู้” โดยเกิดขึ้นที่จิตใจของผู้เรียน การสอนที่ไม่เข้าถึงจิตใจผู้เรียนไม่สามารถจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ ไม่ว่าผู้สอนจะสอนดีเพียงใดก็ตาม ( สุมณฑา พรหมบุญ, 2540 : 30 ) ด้านสังคม ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด ผู้สอนต้องจัดบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรด้านร่างกาย กิจกรรมการเรียนการสอนควรมีรูปแบบที่หลากหลายสับเปลี่ยนหมุนเวียน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เน้นเนื้อหาสาระทางวิชาการ ควรออกแบบให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อกระตุ้นการตื่นตัว ด้านสติปัญญาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ ซักถาม ฝึกในการตั้งโจทย์และแสวงหาคำตอบด้วยตนเองให้มากขึ้น แทนการฝึกหาคำตอบจากโจทย์ที่ตั้งให้ เน้นด้านกระบวนการให้มากขึ้น


อนึ่งผลจากการศึกษาถึงแม้ภาพรวมด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แต่เมื่อศึกษารายละเอียดด้านพุทธิพิสัยแต่ละรายการ พบว่าผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนทดสอบกลางภาคเรียนของนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 ที่สอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทั่วไป กับนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 ที่สอนด้วยแผนการสอนเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม พบว่าไม่แตกต่างกันที่นัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 เนื่องจากทั้งแผนการสอนแบบปกติ (หลักสูตรปีการศึกษา 2544) และแผนการสอนที่เน้น ผู้เรียนมีส่วนร่วม ( หลักสูตรปีการศึกษา 2545 ) มีการประเมินผลด้วยการทดสอบที่คล้ายกัน คือมีการทดสอบย่อยประจำแต่ละหน่วยการเรียน ดังนั้นการทดสอบกลางภาคเรียน เนื้อหาสาระของการทดสอบมีเฉพาะหน่วยที่ยังไม่ผ่านการประเมินผลเท่านั้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาเตรียมตัวในขอบเขตเนื้อหาที่มีปริมาณไม่มากเกินไป อีกทั้งแผนการสอนแบบเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกเป็นช่วงที่นักศึกษาปรับตัว นักศึกษายังยึดติดว่าการประเมินผลด้วยการทดสอบแบบเก่า หากจะทำให้ประสบผลสำเร็จจะต้องใช้วิธีการท่องจำเนื้อหาสาระที่เรียนผ่านมาให้มากที่สุดเท่านั้น แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจะเห็นได้ว่านักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning) มีความสามารถทางด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) สูงกว่านักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 ที่จัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทุกด้าน

ส่วนด้านจิตพิสัย (Effective Domain) จะเห็นได้ว่า นักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning) มีความสามารถด้านจิตพิสัยสูงกว่านักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติ โดยผลการเปรียบเทียบความแตกต่าง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าแผนการสอนแบบเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับสภาวะรอบตัว เน้นเรื่องของกัลยาณมิตรและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งเสริมความสามารถด้านจิตพิสัยให้กับนักศึกษา และเป็นผลสืบเนื่องให้การเรียนรู้ด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย

2. ระดับพัฒนาการทักษะชีวิต (Life Skill)

ผลการศึกษา ซึ่งได้จากการเปรียบเทียบความแตกต่างระดับพัฒนาการทักษะชีวิตของนักศึกษา หลักสูตรปีการศึกษา 2545 ในระยะเริ่มต้นและหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้น ผู้เรียนมีส่วนร่วม ( Participation learning ) พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเฉลี่ยระยะเริ่มการใช้แผนฯ ( x = 10.63, s2 = 1.41) ค่าเฉลี่ยหลังสิ้นสุดการใช้แผนฯ ( x = 22.63, s2 = 2.45 ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมสามารถพัฒนาการทักษะชีวิต (Life skill) ของนักศึกษาได้สูงมาก (ค่าเฉลี่ยระยะเริ่มต้นและหลังสิ้นสุดการใช้แผนฯ แตกต่างกันมาก) อีกทั้งในระยะเริ่มต้นการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ยังบ่งชี้ให้เห็นว่าความสามารถทักษะชีวิตของนักศึกษาโดยรวมอยู่ระดับต่ำ ( s2 = 1.41 ) แต่เมื่อได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้น ผู้เรียนมีส่วนร่วม การพัฒนาทักษะชีวิตของนักศึกษา มีการกระจายเป็นไปตามระดับศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นไปหลักการพัฒนาตามธรรมชาติในเรื่องความแตกต่างของแต่ละบุคคล

อนึ่งจากการศึกษารายละเอียดระดับพัฒนาการทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ช่วงระยะแรกของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม พัฒนาการทักษะชีวิต (Life skill) ของ นักศึกษาทุกด้านอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะกลางของการใช้แผน ระดับการพัฒนาทักษะชีวิตของนักศึกษาสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อถึงช่วงระยะ สุดท้ายก่อนสิ้นสุดการใช้แผนระดับการพัฒนาด้านทักษะชีวิตของนักศึกษามีการพัฒนาใกล้เคียงกับระยะแรกการใช้แผนฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าระยะเริ่มต้นของการใช้แผนเป็นช่วงที่นักศึกษาเริ่ม ปรับตัวทำความเข้าใจกับวิธีการใหม่ เมื่อมีความพร้อมมากขึ้นทำให้สามารถแสดงศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถ ระดับการพัฒนาเริ่มคงที่ นอกจากนี้เมื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะชีวิตแต่ละด้าน หลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ระดับพัฒนาการทักษะชีวิตทุกด้านได้รับการพัฒนาอยู่ในเกณฑ์สูงมากทุกด้าน โดยด้านการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร มีระดับการพัฒนามากกว่าทุกด้าน ( 2.67 ) ทั้งนี้เนื่องจากแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม หลักสำคัญอยู่ที่การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ มีการสื่อสารกับ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเองไม่ว่าจะเป็นผู้สอน เพื่อน ๆ บุคคลต่าง ๆ ในรูปแบบกัลยาณมิตรเมื่อพิจารณาระดับของการพัฒนาหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ด้านความคิดสร้างสรรค์ ( x = 4.80 ) และด้านความคิดวิเคราะห์-วิจารณ์ ( x = 4.70 ) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทุกด้าน เนื่องจากโดยพื้นเดิมของนักศึกษามีความสามารถด้านนี้แฝงอยู่ในตัวบุคคลอยู่แล้ว แต่ มิได้มีโอกาสนำมาใช้หรือถูกพัฒนาขึ้น ต่อเมื่อได้รับการจัดการเรียนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ซึ่งกระบวนการและวิธีการในแผนการสอนดังกล่าว ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในตัว นักศึกษาทุกด้านให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลจึงสามารถส่งเสริมพัฒนาความสามารถดังกล่าวของนักศึกษาให้สูงไปด้วย

สรุปได้ว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอน ด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation learning) เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ยึดถือผู้เรียนสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งอารมณ์ สังคม สติปัญญา และร่างกาย เต็มตามศักยภาพอย่างสูงสุด เป็นบุคคลเก่ง ดี และมีความสุข ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อเสนอแนะ

ผลการศึกษาการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ และทักษะชีวิตของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. กระบวนการเรียนการสอนหัวใจสำคัญ คือ รูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้แต่ละหน่วยบทเรียน โดยต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสภาวะต่าง ๆ ของการเรียนการสอน
2. กิจกรรมการเรียนการสอน ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ให้มากที่สุด ถ้าผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ประสาททุกส่วนของร่างกาย ได้สัมผัส ได้เห็น รับฟัง และสุดท้ายต้องให้ร่วมคิดและนำไปปฏิบัติ การเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีความหมายและมีความมั่นคงถาวรในสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้น ๆ มากขึ้น
3. เนื้อหาสาระ และระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ในแผนการสอน บางครั้งอาจมีการปรับลดหรือเพิ่มตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจและความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งรูปแบบของกิจกรรมที่นำมาใช้
4. การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมนั้น ผู้สอนต้องคำนึงถึงขอบเขตการมี ส่วนรวมของผู้เรียน โดยพยายามกระตุ้น สนับสนุน แนะนำ ฯลฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้แต่ละหน่วยการเรียนและเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้ผู้สอนจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนได้ทราบอย่างชัดเจน หรือบางครั้งต้องกำหนดรูปแบบกิจกรรมอย่างกว้าง ๆ ไว้ล่วงหน้า
5. กิจกรรมการเรียนการสอนทุกครั้ง ผู้สอนต้องพยายามกระตุ้นผู้เรียนให้ร่วมแสดงออกทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ทั้งต้องพยายามให้ผู้เรียนได้สะท้อนผลการเรียนรู้ที่เขาได้รับออกมา ให้ได้ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกิจกรรมการเรียนการสอนกำลังดำเนินอยู่ หรือหลังสิ้นสุดการเรียนการสอนของแต่ละหน่วยการเรียน
6. ประสบการณ์เดิมของผู้เรียนมีความจำเป็นอย่างมากต่อความสามารถในการเรียนรู้ของ
ผู้เรียน ผู้สอนต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างแต่ละบุคคล แล้วนำมาปรับหาค่าเฉลี่ยเพื่อวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งผู้สอนต้องคำนึงถึง คือ
6.1 ประสบการณ์พื้นฐานความรู้เดิม ผู้สอนต้องตรวจสอบว่า ความสามารถด้านความรู้เดิมของผู้เรียนมีเพียงพอจะเป็นพื้นสำหรับรองรับความรู้ใหม่ได้หรือไม่
6.2 ประสบการณ์ด้านสังคม เนื่องจากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเน้นเกี่ยวกับเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนกับสิ่งรอบตัว ดังนั้นบุคลิกภาพ อารมณ์ ความรู้สึก ย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ด้วย

7. ในกระบวนการเรียนการสอนผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ
รอบตัวมากที่สุด ทั้งนี้ผู้สอนจะต้องส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการสื่อสารให้กับผู้เรียนด้วย

8. การประเมินผล ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเห็นว่าการประเมินผลนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ กิจกรรมการเรียนการสอน ประเมินเพื่อพัฒนา บางครั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซ่อมเสริม อย่าให้ผู้เรียนเกิดความเครียดกับการประเมินผล ผู้สอนควรคิดหาเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบการประเมินผล รวมทั้งวิธีการประเมินผลหลาย ๆ รูปแบบผสมผสานกัน

9. กัลยาณมิตร ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งทั้งมีผลส่งเสริมให้ส่วนอื่น ๆ ประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ แต่ผู้สอนควรจะระวังไว้ด้วยว่า ขอบเขตของความเป็นกัลยาณมิตรควรจะอยู่แค่ไหน ผู้สอนต้องพยายามทำให้ผู้เรียนยอมรับในบทบาทของตนเอง และผู้อื่น ด้วยวิธีการสร้างข้อตกลงร่วมกันที่ใช้ปฏิบัติในการเรียนการสอน

No comments: