Friday, July 23, 2010

บัญญัติ 10 ประการของการสร้างเครือข่าย

1. จงทำดี – แล้วความดีที่คุณทำจะกลับมาสนอง
2. จงเอาใจใส่ต่อผู้อื่น – ฟังผู้อื่นด้วย หู ตา สมอง และใจ
3. จงร่าเริงและมีอารมณ์ขัน
4. จงเห็นอกเห็นใจผู้อื่น – ปฎิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ มีน้ำใจ จริงใจ ซื่อสัตย์ และให้
เกียรติ
5. จงพูดถึงผู้อื่นแต่สิ่งที่ดี – สรรเสริญผู้คนและเผยแพร่ความดีของผู้อื่น
6. จงทะนุถนอม “วง”และ”เครือข่าย” ที่คุณโยงใยไว้เสมอๆ – หมั่นติดต่อด้วยโทรศัพท์ บัตร
อวยพร ตัดข่าวและส่งข่าวถึงกัน
7. จงคบคนเยี่ยงคนด้วยกัน – มิใช่คบเขาแบบเป็นสัญญาที่คุณทำขึ้นมาด้วยเจตนาทางธุรกิจ
8. จงทำอย่างที่พูด – ทำตามที่รับปากไว้ ( Walk-the-Talk ) ทุกครั้ง
9. จงสอนข้อบัญญัตินี้ – กับผู้ร่วมงาน ลูกศิษย์และลูกหลานของคุณ พร้อมการทำตนเป็น
ตัวอย่าง
10. จงกตัญญูรู้คุณ – จงรู้คุณคนที่ให้ความอนุเคราะห์เอื้อเฟ้อื ให้เวลา ให้อาหาร ความคิด
ความรัก และเสียงหัวเราะแก่คุณ

รูปแบบในการเรียนรุ้

รูปแบบต่างๆ ของการแสวงหาความรู้ ที่พอเป็นช่องทางในการเติมเต็มความรู้ใหม่ เช่น
- การสัมมนา (Seminar) ในงานต่างๆ โดยเฉพาะช่วงนี้มีการสัมมนาฟรีเยอะมาก แต่
ต้องไม่ลืมถามตัวเองว่าตนเองได้เรียนรู้หรือรู้จักกับใครบ้างจากงานนั้น
- การเข้าชั้นเรียน ฟังบรรยาย (Lecture) ซึ่งเป็นรูปแบบธรรมดาอันหนึ่งของการพัฒนา
ความรู้แบบ Credit Education
Client Assessment Skill
- การเรียนรู้ผ่านสื่อสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาดอย่าง CD Rom และ VDO
(Computer based training & Video instruction) อันนี้ต้องทำใจก่อนว่า จะไม่ได้
Credit การศึกษา
- การเข้าทดสอบความรู้เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร เหมือนอย่างการสอบเป็นผู้ตรวจ
สอบบัญชี หรือการสอบ TOEFL และ GMAT (Professional (licensing) &
Proficiency testing)
- การเรียนรู้ผ่านสื่อทางไกล ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กำลังนิยมในขณะนี้ (Distance learning
& Self-study)
- การเรียนรู้จากผู้รู้ ที่ปรึกษา เพื่อนร่วมวงการ สมาคมวิชาชีพ โดยการลงมือทำงาน
จริงในชีวิตประจำวัน (On-the-job training & In-plant training)

ตอบคำถามชีวิต

ชีวิตที่มีความสมบูรณ์ของเรานั้น
ควรมีลักษณะอย่างไร ?
(ชีวิตส่วนตัว/ครอบครัว/การงาน/สังคม)

เราอยากจะปรับปรุงชีวิต และ
ความเป็นอยู่ในวันนี้ พรุ่งนี้
ให้ดีกว่าเมื่อวานที่ผ่านไปหรือไม่

เราควรทำ อย่างไร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้
กับตัวเองดี
(จะรอให้เป็นไปตามโชคชะตาฟ้าลิขิต
หรือ แสวงหาด้วยตัวเอง)


เรารู้สึกภูมิใจในตนเองหรือไม่
ที่ได้พยายามปรับปรุงตนเอง
ไม่ว่าผลของมันจะเป็นเช่นไร


เราสามารถประเมินผลและตรวจสอบ
ผลการพัฒนาตนเองได้หรือไม่
เพื่อนำ ผลที่ได้ไปหาวิธีที่ดี และ
เหมาะสม เพื่อพัฒนาตนเองต่อไป

กิจกรรม พัฒนาตนเองไปสู่อนาคตที่ดี

กิจกรรม ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่อนาคตที่ดี
1. หากิจกรรมที่มีประโยชน์ทำ ออกกำลังกาย ฝึกภาษา หาเพื่อนใหม่ ๆ
2. หาคำว่า ระเบียบ วินัย ในชีวิตให้เจอ เช่น จดรายละเอียดการทำงาน วางแผนงานล่วงหน้าเสมอ
3. กำจัดทุกอย่าง ที่เราคิดว่า สกปรก ทำให้สะอาด
4. หาเวลานั่งสมาธิ และ หลังจากนั่งแล้ว อย่าหลับ ให้หาหนังสือดี ๆ มาอ่าน จะอ่านได้นานมาก ๆ
5. อย่าหวังว่า ใครจะช่วยคุณได้ เริ่มจาก คุณช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน แล้วไปช่วยคนอื่นบ้าง (เหมือนที่พ่อกับแม่ดูแลเรา)
6. แสวงหาโอกาส และ พุ่งเข้าใส่มัน ด้วยความคิดที่แน่วแน่ และตัดสินใจ อย่างชาญฉลาด
7. ชักชวน คนใกล้ตัว ไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ซื้อไม้แบต มาตีกันหน้าบ้าน
8. จดรายรับ รายจ่าย (สงสัยว่า คนแถวนี้ส่วนใหญ่ จะได้จดกันแต่รายจ่าย)
9. กินอาหารให้พอดี อย่ากินเยอะไป เพราะจะบั่นทอนสุขภาพ และ ประสิทธิภาพการทำงาน (ง่วงนั่นเอง)

การสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning)

http://www.bus.rmutt.ac.th/thai/journal/volume6/REPORT.DOC


บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านทักษะชีวิต (Life skill) ของนักศึกษาหลังจากได้รับการจัดการเรียนการสอน ด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning) กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544 จำนวน 30 คน และปีการศึกษา 2545 จำนวน 30 คน ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple sampling) วิธีการศึกษา ได้ดำเนินการทดลองการจัดการเรียนการสอน โดยใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมี ส่วนร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 พร้อมรวบรวมบันทึกข้อมูลเป็นระยะเวลาตลอดหลักสูตร โดยด้านความสามารถการเรียนรู้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลจากกลุ่มตัวอย่าง ปีการศึกษา 2544 ส่วนพัฒนาการด้านทักษะชีวิตศึกษาวิเคราะห์ผลตามระยะของข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน, ความแปรปรวนและการทดสอบค่าที (t – test Dependent & t – test Independent) โดยใช้โปรแกรม SPSS FOR WINDOWS.

ผลการศึกษา พบว่า การจัดการเรียนการสอน ด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมี ส่วนร่วม ทำให้นักศึกษามีความสามารถในการเรียนรู้สูงขึ้น โดยผลการเปรียบเทียบความแตกต่าง ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านพุทธิพิสัยและด้านจิตพิสัย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 ส่วนพัฒนาการด้านทักษะชีวิตพบว่า หลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม นักศึกษามีพัฒนาการทักษะชีวิตสูงขึ้นกว่าระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เช่นเดียวกัน



รายงานผลการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม
เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้
และทักษะชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี
สาขาวิชาการจัดการ



นภกานต์ สุคันธารุณ



สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ


THE STUDY ON THE RESEARCH PROJECT:
“PARTICIPATION LEARNING”
EDUCATIONAL PROGRAM FOR
THE IMPROVEMENT OF UNDERGRADUATE STUDENTS’ LEARNING ABILITY AND LIFE SKILLS OF BACHELOR DEGREE IN MANAGEMENT







Nopkarn Sucantharuna




RAJAMANGALA INSTITUTE OF TECHNOLOGY
CHAKRAPONGPHUVANARTH CAMPUS

สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนการสอน วิชาการจัดการสำนักงาน ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ-การจัดการทั่วไป ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แผนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า ดังนี้

1. เพื่อศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ของนักศึกษาหลังสิ้นสุดการจัดกระบวนการเรียน
การสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน
2. เพื่อศึกษาพัฒนาการทักษะชีวิตของนักศึกษาที่ได้รับการจัดกระบวนการเรียนการสอน
ด้วยแผนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน

ขอบเขตของการศึกษา

1. กลุ่มประชากร

ประชากรที่ใช้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ - การจัดการทั่วไป ชั้นปีที่ 1 ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ดังนี้

1.1 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 35 คน รวมจำนวน 105 คน
1.2 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 35 คน รวมจำนวน 105 คน

2. กลุ่มตัวอย่าง


กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ - การจัดการทั่วไป ชั้นปีที่ 1 ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple sampling) จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 10 คน เพื่อเป็นตัวแทน ได้ดังนี้

2.1 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 29
2.2 นักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 29



ระยะเวลาในการศึกษา

ระยะเวลาในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2545 ตลอดภาคเรียน รวมจำนวน 18 สัปดาห์

ตัวแปรที่ศึกษา

1. ตัวแปรต้น ได้แก่
การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

2. ตัวแปรตาม ได้แก่
2.1 ความสามารถในการเรียนรู้
2.2 พัฒนาการทักษะชีวิต (Life Skills)

สรุปผลการศึกษา

การศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านทักษะชีวิตของนักศึกษา ด้วยการจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม สรุปผลการศึกษา ได้ดังนี้

1. ความสามารถในการเรียนรู้

ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอน ด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาการจัดการสำนักงานสูงกว่านักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทั่วไป ซึ่งเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งสรุปได้ว่า การจัดกระบวนการเรียน การสอนด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม สามารถพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้สูงขึ้นในด้านต่าง ๆ คือ

1.1 ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

นักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม
มีความสามารถในการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยสูงกว่านักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทั่วไป (มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01)

อนึ่ง ความสามารถด้านพุทธิพิสัย ที่ได้จากการเปรียบเทียบความแตกต่างผลการทดสอบกลางภาคเรียน พบว่า ไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 คือนักเรียนทั้งสองกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม และกลุ่มที่ใช้แผนการสอนแบบปกติทั่วไป มีความสามารถทำการทดสอบกลางภาคเรียนได้ใกล้เคียงกัน แต่หลังสิ้นสุดการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรของวิชาการจัดการสำนักงาน นักศึกษากลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีผลการทดสอบปลายภาคเรียนสูงกว่านักศึกษากลุ่มที่ผ่านการเรียนการสอนโดยใช้แผนการสอนแบบปกติทั่วไป ( ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 )

1.2 ด้านจิตพิสัย (Effective Domain)

ด้านจิตพิสัย พบว่า นักศึกษากลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีคุณภาพด้านจิตพิสัยสูงกว่านักศึกษาที่ผ่านการจัดการเรียน การสอนด้วยการใช้แผนการสอนแบบปกติทั่วไป ( มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 )

2. พัฒนาการทักษะชีวิต (Life Skills)

ผลจากการศึกษาพบว่า นักศึกษาเมื่อได้รับการจัดการเรียนการสอน วิชาการจัดการสำนักงาน ด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีพัฒนาทักษะชีวิตสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับพัฒนาการทักษะชีวิต ระยะเริ่มต้นใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมกับหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนฯ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (ระยะเริ่มต้นการใช้แผนอยู่เกณฑ์ต่ำหลังสิ้นสุดการใช้แผนอยู่ระดับเกณฑ์สูงมาก) โดยระยะเริ่มต้นของการใช้แผนระดับพัฒนาการทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ทุกด้านอยู่ในเกณฑ์ต่ำโดยมีด้านการสร้างสัมพันธ์ภาพ / การสื่อสารมีค่าน้อยกว่าทุกด้าน แต่เมื่อหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ของนักศึกษาได้พัฒนาขึ้นไปอยู่ในเกณฑ์สูง และสูงมากเรียงอันดับได้ ดังนี้

อันดับที่ 1 ทักษะชีวิตด้านความคิดสร้างสรรค์ ( = 4.80 ) ระดับเกณฑ์สูงมาก
อันดับที่ 2 ทักษะชีวิตด้านความคิดวิเคราะห์ – วิจารณ์ ( = 4.70) ระดับเกณฑ์
สูงมาก
อันดับที่ 3 ทักษะชีวิตด้านการสร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสาร ( = 4.60) ระดับ
เกณฑ์สูงมาก และเน้นด้านที่มีการพัฒนาจากระดับเดิมขึ้นไปได้สูงสุด
อันดับที่ 4 ทักษะชีวิตด้านความตระหนักรู้ในตนเอง ( = 4.30) ระดับเกณฑ์สูง
อันดับที่ 5 ทักษะด้านความสามารถการจัดการ ( = 4.23) ระดับเกณฑ์สูง
ระดับการพัฒนาทักษะชีวิตจากการศึกษาพบว่า มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอนไปช่วงระยะกลาง จนถึงช่วงสุดท้ายของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยระดับของการพัฒนาทักษะชีวิตแต่ละด้านมีดังนี้

2.1 ระดับของการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านความคิดวิเคราะห์ – วิจารณ์ และด้านการสร้างสัมพันธ์ภาพ /การสื่อสาร มีระดับของการพัฒนาเพิ่มขึ้นที่ใกล้เคียงและไปในทิศทางเดียวกัน คือ ช่วงระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอน ไปจนถึงช่วงระยะกลางของการใช้แผนการสอนฯ นักศึกษามีการพัฒนาทักษะชีวิตด้านความคิดสร้างสรรค์และด้านความคิดวิเคราะห์–วิจารณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความสม่ำเสมอต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ส่วนช่วงระยะสุดท้ายของการใช้แผนการสอน ระดับการพัฒนายังคงเพิ่มขึ้นโดยตลอด แต่ปริมาณของการเพิ่มขึ้นไม่รวดเร็วเหมือนระยะเริ่มแรกและช่วงระยะกลางของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

2.2 ระดับของการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านความตระหนักรู้ในตนเอง มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอนจนถึงระยะสุดท้ายของการใช้แผนการสอน ระดับการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมีความสม่ำเสมอโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

2.3 ระดับของการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านความสามารถการจัดการมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ช่วงที่มีระดับการพัฒนาสูงเป็นช่วงระยะกลางของการใช้แผนการสอน ส่วนช่วงระยะเริ่มต้นของการใช้แผนการสอน และระยะสุดท้ายของการใช้แผนการสอน มีระดับการพัฒนาเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน ปริมาณของการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นไม่รวดเร็วเหมือนระยะกลางของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม

อภิปรายผล

การศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านทักษะชีวิตของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ-การจัดการทั่วไป ด้วยการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ผลที่ได้จากการศึกษา มีประเด็นที่ควรนำมาอภิปราย ดังนี้

1. ความสามารถในการเรียนรู้ ผลที่ได้จากการศึกษาจะเห็นได้ว่า กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการเปรียบเทียบความแตกต่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้นักศึกษา หลักสูตรปีการศึกษา 2544 ที่จัดการเรียนการสอนแบบปกติทั่วไป กับนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 กลุ่มทดลองที่ใช้แผนการสอนเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้แบบผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้พัฒนาครบทั้งด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ด้านจิตพิสัย (Effective) ด้านทักษะพิสัย ( Psychomotor Domain ) เป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด เพราะแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย สาระกิจกรรม แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียน การวัดประเมินผลที่มุ่งพัฒนาคนและชีวิต ให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543 : 20) เนื่องจากเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียน สามารถคิดค้นหาคำตอบและสร้างคำถามเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองซึ่งตรงตามหลักการเรียนรู้ตามพระพุทธศาสนา พระธรรมปิฎก, ( ป.อ. ปยุตโต, 2540 : 14 - 17 ) และตามปรัชญาการสร้างความรู้ (Constructivism) ที่ว่าผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังตรงตามแนวคิดของ จอห์น ดิวอี้ ( John Dewey ) ที่ว่า
“ การเรียนรู้โดยการกระทำ หรือ Learning by Doing ” (Dewey, 1963)


ปริมาณของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดกิจกรรม สามารถจัดได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และกระบวนการของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งผู้สอนได้ทำการศึกษาวิเคราะห์กิจกรรมการเรียนการสอน และมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้เรียนตามโอกาส สถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอหรือไม่ กิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องมีการประเมินคุณค่าใน 4 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ถือว่าเป็นด้านที่มีความสำคัญ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนรู้ ถ้า กิจกรรมการเรียนการสอน สามารถจัดให้ผู้เรียนมีอารมณ์ร่วมได้เท่าไร ความสามารถในการเรียนรู้ก็จะสูงขึ้นเท่านั้น ( ประเวศ วะสี, 2543 : ก ) ( ทิศนา แขมมณี, 2543 : 2-3 ) เพราะหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม คือการเรียนให้ “รู้” โดยเกิดขึ้นที่จิตใจของผู้เรียน การสอนที่ไม่เข้าถึงจิตใจผู้เรียนไม่สามารถจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ ไม่ว่าผู้สอนจะสอนดีเพียงใดก็ตาม ( สุมณฑา พรหมบุญ, 2540 : 30 ) ด้านสังคม ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด ผู้สอนต้องจัดบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรด้านร่างกาย กิจกรรมการเรียนการสอนควรมีรูปแบบที่หลากหลายสับเปลี่ยนหมุนเวียน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เน้นเนื้อหาสาระทางวิชาการ ควรออกแบบให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อกระตุ้นการตื่นตัว ด้านสติปัญญาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ ซักถาม ฝึกในการตั้งโจทย์และแสวงหาคำตอบด้วยตนเองให้มากขึ้น แทนการฝึกหาคำตอบจากโจทย์ที่ตั้งให้ เน้นด้านกระบวนการให้มากขึ้น


อนึ่งผลจากการศึกษาถึงแม้ภาพรวมด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แต่เมื่อศึกษารายละเอียดด้านพุทธิพิสัยแต่ละรายการ พบว่าผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนทดสอบกลางภาคเรียนของนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 ที่สอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทั่วไป กับนักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 ที่สอนด้วยแผนการสอนเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม พบว่าไม่แตกต่างกันที่นัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 เนื่องจากทั้งแผนการสอนแบบปกติ (หลักสูตรปีการศึกษา 2544) และแผนการสอนที่เน้น ผู้เรียนมีส่วนร่วม ( หลักสูตรปีการศึกษา 2545 ) มีการประเมินผลด้วยการทดสอบที่คล้ายกัน คือมีการทดสอบย่อยประจำแต่ละหน่วยการเรียน ดังนั้นการทดสอบกลางภาคเรียน เนื้อหาสาระของการทดสอบมีเฉพาะหน่วยที่ยังไม่ผ่านการประเมินผลเท่านั้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาเตรียมตัวในขอบเขตเนื้อหาที่มีปริมาณไม่มากเกินไป อีกทั้งแผนการสอนแบบเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกเป็นช่วงที่นักศึกษาปรับตัว นักศึกษายังยึดติดว่าการประเมินผลด้วยการทดสอบแบบเก่า หากจะทำให้ประสบผลสำเร็จจะต้องใช้วิธีการท่องจำเนื้อหาสาระที่เรียนผ่านมาให้มากที่สุดเท่านั้น แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจะเห็นได้ว่านักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2545 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning) มีความสามารถทางด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) สูงกว่านักศึกษาหลักสูตรปีการศึกษา 2544 ที่จัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติทุกด้าน

ส่วนด้านจิตพิสัย (Effective Domain) จะเห็นได้ว่า นักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation Learning) มีความสามารถด้านจิตพิสัยสูงกว่านักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนแบบปกติ โดยผลการเปรียบเทียบความแตกต่าง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าแผนการสอนแบบเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับสภาวะรอบตัว เน้นเรื่องของกัลยาณมิตรและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งเสริมความสามารถด้านจิตพิสัยให้กับนักศึกษา และเป็นผลสืบเนื่องให้การเรียนรู้ด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย

2. ระดับพัฒนาการทักษะชีวิต (Life Skill)

ผลการศึกษา ซึ่งได้จากการเปรียบเทียบความแตกต่างระดับพัฒนาการทักษะชีวิตของนักศึกษา หลักสูตรปีการศึกษา 2545 ในระยะเริ่มต้นและหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้น ผู้เรียนมีส่วนร่วม ( Participation learning ) พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเฉลี่ยระยะเริ่มการใช้แผนฯ ( x = 10.63, s2 = 1.41) ค่าเฉลี่ยหลังสิ้นสุดการใช้แผนฯ ( x = 22.63, s2 = 2.45 ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมสามารถพัฒนาการทักษะชีวิต (Life skill) ของนักศึกษาได้สูงมาก (ค่าเฉลี่ยระยะเริ่มต้นและหลังสิ้นสุดการใช้แผนฯ แตกต่างกันมาก) อีกทั้งในระยะเริ่มต้นการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ยังบ่งชี้ให้เห็นว่าความสามารถทักษะชีวิตของนักศึกษาโดยรวมอยู่ระดับต่ำ ( s2 = 1.41 ) แต่เมื่อได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการสอนที่เน้น ผู้เรียนมีส่วนร่วม การพัฒนาทักษะชีวิตของนักศึกษา มีการกระจายเป็นไปตามระดับศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นไปหลักการพัฒนาตามธรรมชาติในเรื่องความแตกต่างของแต่ละบุคคล

อนึ่งจากการศึกษารายละเอียดระดับพัฒนาการทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ช่วงระยะแรกของการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม พัฒนาการทักษะชีวิต (Life skill) ของ นักศึกษาทุกด้านอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะกลางของการใช้แผน ระดับการพัฒนาทักษะชีวิตของนักศึกษาสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อถึงช่วงระยะ สุดท้ายก่อนสิ้นสุดการใช้แผนระดับการพัฒนาด้านทักษะชีวิตของนักศึกษามีการพัฒนาใกล้เคียงกับระยะแรกการใช้แผนฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าระยะเริ่มต้นของการใช้แผนเป็นช่วงที่นักศึกษาเริ่ม ปรับตัวทำความเข้าใจกับวิธีการใหม่ เมื่อมีความพร้อมมากขึ้นทำให้สามารถแสดงศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถ ระดับการพัฒนาเริ่มคงที่ นอกจากนี้เมื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะชีวิตแต่ละด้าน หลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ระดับพัฒนาการทักษะชีวิตทุกด้านได้รับการพัฒนาอยู่ในเกณฑ์สูงมากทุกด้าน โดยด้านการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร มีระดับการพัฒนามากกว่าทุกด้าน ( 2.67 ) ทั้งนี้เนื่องจากแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม หลักสำคัญอยู่ที่การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ มีการสื่อสารกับ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเองไม่ว่าจะเป็นผู้สอน เพื่อน ๆ บุคคลต่าง ๆ ในรูปแบบกัลยาณมิตรเมื่อพิจารณาระดับของการพัฒนาหลังสิ้นสุดการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ด้านความคิดสร้างสรรค์ ( x = 4.80 ) และด้านความคิดวิเคราะห์-วิจารณ์ ( x = 4.70 ) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทุกด้าน เนื่องจากโดยพื้นเดิมของนักศึกษามีความสามารถด้านนี้แฝงอยู่ในตัวบุคคลอยู่แล้ว แต่ มิได้มีโอกาสนำมาใช้หรือถูกพัฒนาขึ้น ต่อเมื่อได้รับการจัดการเรียนด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม ซึ่งกระบวนการและวิธีการในแผนการสอนดังกล่าว ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในตัว นักศึกษาทุกด้านให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลจึงสามารถส่งเสริมพัฒนาความสามารถดังกล่าวของนักศึกษาให้สูงไปด้วย

สรุปได้ว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอน ด้วยแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Participation learning) เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ยึดถือผู้เรียนสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งอารมณ์ สังคม สติปัญญา และร่างกาย เต็มตามศักยภาพอย่างสูงสุด เป็นบุคคลเก่ง ดี และมีความสุข ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อเสนอแนะ

ผลการศึกษาการใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ และทักษะชีวิตของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. กระบวนการเรียนการสอนหัวใจสำคัญ คือ รูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้แต่ละหน่วยบทเรียน โดยต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสภาวะต่าง ๆ ของการเรียนการสอน
2. กิจกรรมการเรียนการสอน ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ให้มากที่สุด ถ้าผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ประสาททุกส่วนของร่างกาย ได้สัมผัส ได้เห็น รับฟัง และสุดท้ายต้องให้ร่วมคิดและนำไปปฏิบัติ การเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีความหมายและมีความมั่นคงถาวรในสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้น ๆ มากขึ้น
3. เนื้อหาสาระ และระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ในแผนการสอน บางครั้งอาจมีการปรับลดหรือเพิ่มตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจและความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งรูปแบบของกิจกรรมที่นำมาใช้
4. การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วมนั้น ผู้สอนต้องคำนึงถึงขอบเขตการมี ส่วนรวมของผู้เรียน โดยพยายามกระตุ้น สนับสนุน แนะนำ ฯลฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้แต่ละหน่วยการเรียนและเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้ผู้สอนจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนได้ทราบอย่างชัดเจน หรือบางครั้งต้องกำหนดรูปแบบกิจกรรมอย่างกว้าง ๆ ไว้ล่วงหน้า
5. กิจกรรมการเรียนการสอนทุกครั้ง ผู้สอนต้องพยายามกระตุ้นผู้เรียนให้ร่วมแสดงออกทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ทั้งต้องพยายามให้ผู้เรียนได้สะท้อนผลการเรียนรู้ที่เขาได้รับออกมา ให้ได้ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกิจกรรมการเรียนการสอนกำลังดำเนินอยู่ หรือหลังสิ้นสุดการเรียนการสอนของแต่ละหน่วยการเรียน
6. ประสบการณ์เดิมของผู้เรียนมีความจำเป็นอย่างมากต่อความสามารถในการเรียนรู้ของ
ผู้เรียน ผู้สอนต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างแต่ละบุคคล แล้วนำมาปรับหาค่าเฉลี่ยเพื่อวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งผู้สอนต้องคำนึงถึง คือ
6.1 ประสบการณ์พื้นฐานความรู้เดิม ผู้สอนต้องตรวจสอบว่า ความสามารถด้านความรู้เดิมของผู้เรียนมีเพียงพอจะเป็นพื้นสำหรับรองรับความรู้ใหม่ได้หรือไม่
6.2 ประสบการณ์ด้านสังคม เนื่องจากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเน้นเกี่ยวกับเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนกับสิ่งรอบตัว ดังนั้นบุคลิกภาพ อารมณ์ ความรู้สึก ย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ด้วย

7. ในกระบวนการเรียนการสอนผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ
รอบตัวมากที่สุด ทั้งนี้ผู้สอนจะต้องส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการสื่อสารให้กับผู้เรียนด้วย

8. การประเมินผล ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเห็นว่าการประเมินผลนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ กิจกรรมการเรียนการสอน ประเมินเพื่อพัฒนา บางครั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซ่อมเสริม อย่าให้ผู้เรียนเกิดความเครียดกับการประเมินผล ผู้สอนควรคิดหาเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบการประเมินผล รวมทั้งวิธีการประเมินผลหลาย ๆ รูปแบบผสมผสานกัน

9. กัลยาณมิตร ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งทั้งมีผลส่งเสริมให้ส่วนอื่น ๆ ประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ แต่ผู้สอนควรจะระวังไว้ด้วยว่า ขอบเขตของความเป็นกัลยาณมิตรควรจะอยู่แค่ไหน ผู้สอนต้องพยายามทำให้ผู้เรียนยอมรับในบทบาทของตนเอง และผู้อื่น ด้วยวิธีการสร้างข้อตกลงร่วมกันที่ใช้ปฏิบัติในการเรียนการสอน

Web site

www.urarat.sskru.ac.th

Friday, July 16, 2010

วิธีสลัดเรื่องไร้สาระออกจากใจ

นิสัยเกิดจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า

นิสัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองตามสภาวะธรรมชาติและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เสียจนเราไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดปกติหรือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่หารู้ไม่ว่านิสัยที่ไม่ดีของเราเหล่านี้จะเป็นตัวบั่นทอนพลังชีวิต ทำให้เราหมดกำลังใจ และทำให้เราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ดังนั้น ผู้แต่งจึงชี้ให้เห็นถึงนิสัยที่ไม่ดีและมิจฉาทิฏฐิที่ควรแก้ไข ดังนี้

1. ความคิดที่ว่าเมื่อประสบปัญหาต้องรีบแก้ไขทันที

ในช่วงที่ประสบปัญหาจิตใจจะวกวนสับสน เครียด อึดอัด มึนงง เศร้าสลดหดหู่ไม่ควรที่จะขบคิดแก้ไขปัญหาใด ๆ เพราะยิ่งคิดยิ่งมึนงง มองไม่เห็นทางออก หรือถ้าคิดออกความคิดที่ได้ก็ไม่เฉียบคม

วิธีแก้ หยุดคิด ทำใจให้สบาย ๆ ปล่อยวาง เมื่อจิตใจสงบจึงค่อยเริ่มแก้ไขปัญหา แก้ไขปัญหาที่พอจะแก้ไขได้ก่อน ปัญหาที่รุนแรงและเรื้อรังยากที่จะแก้ไขได้โดยทันที ก็ให้ค่อย ๆ แก้ไขไปทีละเปลาะสองเปลาะ เมื่อปัญหาลดน้อยลงจะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น ปัญหาที่ยากย่อมต้องใช้เวลา ความพยายาม ความอดทน และความต่อเนื่องเป็นธรรมดา

จงยอมรับความเป็นจริงทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรา

คิดถึงเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น(Worst case scenario) แล้วทำใจยอมรับให้ได้ เมื่อนั้นจิตใจจะสงบ
และในความเป็นจริงมันอาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่เราคิดไว้ก็ได้ จะทำให้เรายิ่งมีกำลังใจที่จะขบคิดแก้ไขปัญหาต่อไป

2. หงุดหงิดรำคาญใจ ทุกสิ่งทุกอย่างขัดหูขัดตาไปหมด ไม่ได้ดั่งใจเอาเสียเลย

บุคคลที่มีความคิดประเภทนี้จะมีจิตใจคับแคบ ไม่รู้จักให้อภัยผู้อื่น เอาตนเองเป็นที่ตั้ง ชี้ถูกชี้ผิดอยู่ตลอดเวลา
นิดหนึ่งก็ไม่ได้นิดหนึ่งก็ไม่ยอม จิตใจร้อนรุ่ม หาความสุขไม่ได้ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรืออยากทำงานด้วย มีศัตรูเต็มไปหมด สุขภาพเสื่อมโทรมโรคภัยรุมเร้าเพราะมีความเครียดอยู่ตลอดเวลา

วิธีแก้ รู้จักปล่อยวางเสียบ้าง ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครสามารถทำตามใจเราได้ทุกอย่าง ทำอะไรก็ตามให้อยู่ในระดับกลาง ๆ พอดี ๆ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง พูดจาให้นุ่มนวลอ่อนหวาน สบาย ๆ ไม่ต้องเอาเป็นเอาตาย เอาจริงเอาจังไปเสียทุกเรื่อง


3. บ้างาน คิดว่าตนเองมีงานล้นมือ

ทุกอย่างมีแต่ความรีบเร่งจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง คนที่รีบเร่งทำงานหลาย ๆ อย่างแต่ทำไม่เสร็จซักอย่าง งานส่วนใหญ่มักจะไม่มีสาระ ไม่สำคัญ ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นเพราะการรีบเร่งทำงานอยู่ตลอดเวลาจิตจะไม่ว่าง กิริยาจะร้อนรน ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดความระมัดระวังทำให้ไม่รู้ตัวว่าตนกำลังทำสิ่งที่ไร้สาระอยู่ เมื่อพลังงานส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ งานที่ออกมาก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อโดนตำหนิก็เกิดความเครียดทำให้ต้องรีบสร้างผลงานมากขึ้นเพื่อชดเชยความผิด แต่ยิ่งรีบก็ยิ่งผิด วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด

วิธีแก้ เลือกทำในสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิต ถามตนเองว่าสิ่งที่กำลังทำ

กำลังพูด และกำลังคิดอยู่นี้จะทำให้เรามีความสุขขึ้น เป็นคนดีมากขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น และมีเงินทองมากขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้ตัดทิ้งเสียเช่น การนินทาว่าร้ายเจ้านาย เป็นต้น ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ทำในปัจจุบันจะส่งผลไปยังอนาคตอย่างแน่นอน ให้บอกตนเองเสมอว่า ในโลกนี้มีงานต่าง ๆ อีกมากมายทำเท่าไรก็ทำไม่หมดหรอก ทำแต่สิ่งที่สำคัญเท่านั้นก็พอ ให้ตระหนักถึงสัจธรรมที่ว่า ถึงแม้ว่าเราจะจากโลกนี้ไป โลกมันก็ยังคงดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องมีตัวเรา อย่าสำคัญตัวเองมากนัก หยุดทำงานทุกอย่าง นั่งสงบนิ่งดูลมหายใจ (อาณาปาณสติ) สัก 15 นาที เจริญมรณานุสติโดยการคิดว่าถ้าจะต้องตายในอีก 7 วันข้างหน้า เราอยากทำสิ่งใดมากที่สุด (แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับบุคคลที่เป็นโทสะจริตเพราะมีมรณานุสติเป็นอารมณ์อยู่แล้ว)

4. คิดเอาตนเองเป็นใหญ่และคิดอาฆาตแค้นพยาบาทคนอยู่ตลอดเวลา

ความคิดนี้เป็นความคิดในแง่ลบ (Negative thinking) ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนพลังชีวิต ทำให้เราเป็นคนย้ำคิดย้ำทำและเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายโดยที่เราไม่รู้ตัว การกระทำ คำพูดและแววตาจะแสดงออกมาด้วยความก้าวร้าวรุนแรง

วิธีแก้ ให้ระมัดระวังความคิดในแง่ลบ เมื่อมีความคิดเหล่านี้โผล่ขึ้นมาเองไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องคิดต่อ ให้เปลี่ยนเรื่องคิดทันที ให้หันมาคิดในแง่บวกแทนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดเองตามธรรมชาติจะต้องสร้างขึ้นมา ทำใจยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความคิดที่เป็นอกุศลเช่น ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตพยาบาท ความมีอัตตาตัวตน และความยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้รวมทั้งตัวเราเอง ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เราจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินผู้อื่นว่าถูกหรือผิด หากเรายอมรับความเป็นจริงในข้อนี้ได้ เราจะรู้จักให้อภัยผู้อื่นและให้อภัยตัวเอง รู้จักสำรวมคำพูดและการกระทำมากขึ้น พยายามประคับประคองความคิดที่ดีให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


5. คิดดูถูกผู้อื่น และชี้ถูกชี้ผิดอยู่ตลอดเวลา

ความคิดเหล่านี้จะทำให้เรามีจิตใจคับแคบ ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่น มีความเครียดเป็นอาจิณ

วิธีแก้ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เลิกเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หัดเข้าใจความคิดและอารมณ์ของผู้อื่นว่าทำไมเขาถึงพูดหรือทำเช่นนั้น และถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา เราอาจจะทำแบบเดียวกับเขาก็ได้ เป็นต้น ยอมรับว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่คิดเหมือนกับเรา ดังนั้น การมีความคิดที่ขัดแย้งกันย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครถูกใครผิดหัดฟังมากกว่าพูด สักแต่รู้สักแต่เห็น รับรู้ทุกอย่างแต่อย่าคิดต่อไม่ต้องหาเหตุหาผลไปซะทุกเรื่องพิจารณาอารมณ์ของตนเอง ว่าในขณะนี้เราสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ เพื่อหยุดความคิดซึ่งป็นบ่อเกิดแห่งอัตตาตัวกูของกู


6. คิดเอาชนะผู้อื่น

การโต้เถียงเอาชนะผู้อื่นเพียงเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูก ต้องเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช้เหตุ และยังเป็นการสร้างศัตรูโดยที่เราไม่รู้ตัว

วิธีแก้ พูดเท่าที่จำเป็นพูดแต่สิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ รู้จักปล่อยวางเสียบ้าง หัดฟังมากกว่าพูด และเอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการโต้เถียงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


7. คิดทวงบุญคุณจากผู้อื่น

การทวงบุญคุณจะทำให้จิตใจคับแคบ เต็มไปด้วยความอึดอัด ไม่พอใจ ลังเลสงสัย จิตใจสกปรกขุ่นมัวเพราะเป็นการทำดีเพื่อหวังผลตอบแทน

วิธีแก้ ช่วยเหลือโดยไม่ต้องคำนึงถึงผู้ให้ในที่นี้คือตัวเรานั่นเอง ควรให้เพราะอยากช่วยเหลือไม่ต้องมีตัวเขาเราท่าน
ช่วยเหลือโดยไม่ต้องคำนึงถึงผู้รับ คนไหนพอช่วยได้ให้ช่วยไปเลยไม่ต้องจำกัดว่าช่วยเพราะเป็นญาติเรา หรือช่วยเพราะเขาทำดีกับเรา เป็นต้น ช่วยแล้วหันหลังกลับ ไม่หวังผลตอบแทน

8. คิดกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

การคิดวิตกกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงจะทำให้จิตใจว้าวุ่น สับสนเต็มไปด้วยความหวาดกลัว จิตใจล่องลอยไม่อยู่กับปัจจุบัน

วิธีแก้ รู้เนื้อรู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำแล้วเกิดผลอะไร ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คิดโกรธเกลียดหมั่นไส้ผู้อื่น ความโกรธ เกลียด รำคาญ และไม่ชอบหน้าบุคคลที่เคยทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจเป็นนิสัยที่เกิดได้กับมนุษย์ทุกคน แต่เมื่อมีความคิดเหล่านี้ผุดขึ้นในจิตใจเราควรระมัดระวังไม่ให้แสดงออกมาทางสีหน้า แววตา น้ำเสียง และการกระทำ นอกจากนั้น เราควรมองบุคคลเหล่านั้นในแง่บวก เช่น คนที่ตำหนิติเตียนเรานั้นอาจจะกำลังสอนให้เรารู้จักทำงานให้เป็นระเบียบมากขึ้น หรือคนนินทาว่าร้ายเรานั้นอาจจะกำลังสอนให้เรารู้จักวางตัว พูดเท่าที่จำเป็น เพราะเขารู้เรื่องของเราหมดจึงเอาไปคุยกันจนสนุกปาก เป็นต้น


9. คิดน้อยใจในโชคชะตาของตนเอง

การคิดน้อยใจในชะตากรรมของตัวเองเช่น เกิดมายากจน รูปร่างไม่ดี หน้าตาไม่สวย เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือทำอะไรก็สู้เขาไม่ได้ เป็นต้น การคิดเช่นนี้นอกจากจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจตัวเองแล้วยังทำให้ชีวิตจมปลักไม่ก้าวหน้าไปไหน
เพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำแต่สิ่งเดิม ๆ

วิธีแก้ จงพอใจในสิ่งที่ตนมี และอย่าคิดเปรียบเทียบกับคนอื่น
ระลึกและจดจำในสิ่งดี ๆ ที่เราได้รับจากคนรอบข้าง รู้จักและยอมรับตนเองทั้งจุดเด่นและจุดด้อย พัฒนาและใช้จุดเด่นของเราให้เป็นประโยชน์และปรับ ปรุงจุดด้อยหรือหาสิ่งอื่นมาทดแทน เรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต
ลืมอดีตที่ขมขื่นเพื่อทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คิดในแง่บวก และพยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา

10. นิสัยมองโลกในแง่ร้ายและคิดว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเห็นแก่ตัว

การคิดเช่นนี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความคิดในแง่ลบให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ มองความจริงไม่ตรงตามความเป็นจริง ปัญหาเล็ก ๆ ก็ตีโพยตีพายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต จิตใจคับแคบ หาความสุขไม่ได้เพราะจะคอยจับผิดผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

วิธีแก้ คิดถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่เราได้รับจากคนรอบข้างเช่น คิดถึงบุคคลที่มีบุญคุณหรือมีน้ำใจกับเรา เป็นต้น พยายามมองโลกในแง่บวก อย่าปล่อยให้จิตมันคิดเอง


11. คิดว่าโลกนี้มีแต่ปัญหาเต็มไปหมด แก้เท่าไรก็ไม่หมดเสียที

การคิดเช่นนี้นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วรังแต่จะเป็นตัวบ่อนทำลายกำลังใจของเราเองเสียอีก

วิธีแก้ ให้มองปัญหาเสมือนด่านทดสอบความอดทน ตัวฝึกฝนทักษะในการแก้ปัญหา และเป็นแหล่งปัญญาที่หาไม่ได้จากในหนังสือ มองปัญหาในแง่บวกว่ามันอาจจะเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่ความหายนะจะเกิดขึ้นก็ได้ ปัญหาทำให้เราเห็นข้อบกพร่องที่เราอาจจะมองข้ามไป มองปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ อันไหนพอแก้ได้ก็ทำไปก่อน คิดในแง่บวกและตั้งจิตว่าจะประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา


12. คิดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น ฉลาดกว่าผู้อื่น หรือร่ำรวยกว่าผู้อื่น

ความคิดเช่นนี้จะส่งผลให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาเต็มไปด้วยความหยิ่งยะโสโอหัง อวดดี ถือตัว มองผู้อื่นด้วยสายตาดูถูกดูแคลน วาจาจะรุนแรงและสามหาว บุคคลรอบข้างจะรังเกียจ หมั่นไส้ และอิจฉาริษยา ซึ่งเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว

วิธีแก้ ระมัดระวังคำพูด ความคิด และการกระทำ ต้องมีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา หัดมองตัวเอง เลิกเปรียบเทียบกับผู้อื่น
อย่าวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น

13. การด่าทอ เหน็บแนม ประชดประชัน และวิพากษ์วิจารณ์

เป็นอกุศลวาจาที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้อื่น ซึ่งเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนั้น ความคิดเหล่านี้ยังเป็นที่มาของความโกรธ ความเกลียด และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจมนุษย์อีกด้วย

วิธีแก้ คิดก่อนพูดและไม่ต้องพูดทุกอย่างที่เราคิด
ถ้าพูดแล้วไม่สร้างสรรค์นิ่งเสียจะดีกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา ในโลกนี้ไม่มีใครชอบถูกวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่ตัวเราเอง

บทความที่นำมาเสนอจากหนังสือเรื่อง
Don't Sweat the Small Stuff แต่งโดย
Richard Carlson

http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=03eaf35d8394c97c&clk=wttpcts

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์สำหรับตนเอง

๑. รู้ทัน ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง บอกกับตัวเองได้ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร และรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองได้ แม้เมื่อผู้อื่นพูดถึง ก็สามารถเปิดใจรับมาพิจารณา เพื่อที่จะหาโอกาสปรับปรุงหรือใช้เป็นข้อเตือนใจที่จะระมัดระวังการแสดงอารมณ์มากขึ้น

๒. รับผิดชอบ เมื่อเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ท้อแท้ ให้ฝึกคิดอยู่เสมอว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองจากการกระตุ้นของปัจจัยภายนอก เพราะฉะนั้นจึงควรรับผิดชอบต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น และควรหัดแยกแยะ วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยเหตุผล ไม่คิดเอาเองด้วยอคติหรือประสบการณ์เดิม ๆ ที่มีอยู่ เพราะอาจทำให้การตีความในปัจจุบันผิดพลาดได้

๓. จัดการได้ อารมณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นสามารถคลี่คลายสลายให้หมดไปด้วยการรู้เท่าทันและหาวิธีจัดการที่เหมาะสม เช่น ไม่จ่อมจมอยู่กับอารมณ์นั้น พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ โดยหางานหรือกิจกรรมทำ เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น เป็นการสร้างความเพลิดเพลินใจขึ้นมาแทนที่อารมณ์ไม่ดีที่มีอยู่

๔. ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฝึกใช้อารมณ์ส่งเสริมความคิด ให้อารมณ์ช่วยปรับแต่งและปรุงความคิดให้เป็นไปในทางที่มีประโยชน์ ฝึกคิดในด้านบวกเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในการทำงาน

๕. เติมใจให้ตนเอง โดยการหัดมองโลกในแง่มุมที่สวยงาม รื่นรมย์ มองหาข้อดีในงานที่ทำ ชื่นชมด้านดีของเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดอคติและความเครียดในจิตใจ ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น

๖. ฝึกสมาธิ ด้วยการกำหนดรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าปัจจุบันกำลังสุขหรือทุกข์อย่างไร อาจเป็นสมาธิอย่างง่าย ๆ ที่กำหนดจิตใจไว้ที่ลมหายใจเข้าออก การทำสมาธิช่วยให้จิตใจสงบ และมีกำลังใจในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

๗. ตั้งใจให้ชัดเจน โปรแกรมจิตใจตนเอง ด้วยการกำหนดว่าต่อไปนี้จะพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ และตั้งเป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานให้ชัดเจน

๘. เชื่อมั่นในตนเอง จากงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะมีความสำเร็จในการทำงานและการเรียนมากกว่าคนที่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง

๙. กล้าลองเพื่อรู้ การกล้าที่จะลองทำในสิ่งที่ยากกว่าในระดับที่คิดว่าน่าจะทำได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ฉลาดทางอารมณ์ = ฉลาดคิด+ ฉลาดพูด + ฉลาดทำ
ฉลาดคิด ---> ควบคุมความคิดได้ คิดในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์
ฉลาดพูด ---> เลือกพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้คนเองและบุคคลอื่นเดือดร้อน
ฉลาดทำ ---> "ทำเป็น" ไม่ใช่แค่ "ทำได้" มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ

ความฉลาดทางอารมณ์กับความรักและครอบครัว

ครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจและยอมรับได้ในข้อบกพร่องของผู้อื่น อีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ จึงมีผลอย่างมากต่อความสงบสุขในบ้าน หรือในชีวิตคู่ ปัญหาความแตกแยก หย่าร้างที่เกิดขึ้นล้วนมีต้นตอมาจากการไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือยอมรับข้อบกพร่องของอีกฝ่ายไม่ได้ เมื่อมีปัญหาก็ไม่หันหน้าคุยกันดี ๆ หรือบางทีก็ใช้ความรุนแรง

ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา จึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนสองคนไปกันรอด ตรงกันข้าม ถ้าคนเก่งสองคนอยู่ด้วยกัน แล้วไม่ยอมกันพยายามที่จะเอาชนะคะคานกัน อนาคตก็คงไม่พ้นการหย่าร้าง ด้วยเหตุนี้ คนเก่ง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จึงล้มเหลวในชีวิตคู่

การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตคู่ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อุปสรรคและปัญหาแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ การเรียนรู้ธรรมชาติและความต้องการของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

การเรียนรู้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนที่เรารักได้ดียิ่งขึ้น

เพราะเมื่อคนเรามีความข้าใจ ความยอมรับได้ก็จะตามมา

การรู้ธรรมชาติของชายหญิง จะช่วยให้เราอ่านใจ อ่านอารมณ์ของอีกฝ่ายออก ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร ทำให้เราสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และถูกใจคนที่เรารัก

แน่นอนว่า ในการเรียนรู้เรื่องความรักและการอยู่ร่วมกัน "หัวใจ" เท่านั้นที่มีความสำคัญในเรื่องนี้

ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาจึงไม่ช่วยอะไรมากนักกับการประคองนาวารักของคนสองคน

ในทางจิตวิทยา กล่าวถึงอีคิวกับการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวเอาไว้ว่า


๑. สนใจ และเข้าใจในความกังวลของคนในครอบครัว
๒. รับรู้และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในครอบครับได้ดี
๓. รู้และเข้าใจศักยภาพ ส่งเสริมความรู้ความสามารถของสมาชิกในครอบครัวให้ถูกทาง
๔. ความจริงใจต่อกัน เป็นรากฐานของความผูกพันทางอารมณ์ที่ลึกซึ้ง

จากคู่มือความฉลาดทางอารมณ์ ฉบับปรับปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หน้า 20-23

http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1035

พลังแห่งการคิดในเชิงบวก

ที่มา
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=1ebaf0f58c9ec2d8

คิดบวก ชีวิตก็บวกครับ เหมือนเร็วเห็นน้ำครึ่งแก้ว ถ้าคุณคิดว่าเหลือแค่ครึ่งแก้ว ก็เป็นลบ ดูจะขาดแคลนขึ้นมาทันทีใช่มั้ยครับ แต่ถ้าคิดว่า ยังเหลืออีกตั้งครึ่งแก้วแหนะ ครึ่งแก้วเหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่ได้รับกลับมาต่างกันมากเลย

จอนห์ ไมตันกวีเอกชาวอังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า "จิตมนุษย์ทำให้นรกเป็นสวรรค์ก็ได้ และทำสวรรค์ให้เป็นนรกก็ได้" เป็นการสอนให้เรารู้ว่ามนุษย์มี 2 จำพวก พวกหนึ่งมองโลกในแง่ดี แง่บวก มองว่าทุกปัญหามีหนทางแก้ไขได้ ส่วนอีกพวกหนึ่งมองโลกแง่ลบ หมดหวัง ท้อแท้ เบื่อหน่าย คล้ายกับว่าทุกหนทางมีปัญหาท่านที่ผ่านชีวิตมาพอสมควร คงจะสังเกตุความจริงเหล่านี้ได้ และพิจารณาดูชีวิตของเราเอง เราก็คงจะบอกได้ว่าเราเป็นคนประเภทใด หรือมีส่วนประสมของสองลักษณะเข้าด้วยกัน บางช่วงก็มองโลกในแง่ดีมีความหวังมากแต่พอประสบความผิดหวังในบางเรื่อง ก็พาลจะท้อแท้ยอมแพ้เอาง่าย ๆ และพาให้เริ่มมองโลกในแง่ลบไป จนกระทั่งมีคนเตือนสติหรืออ่านข้อคิดของคนบางคนที่ตกในที่นั่งลำบากกว่าเราเขายังฮึดสู้ จนพบความสำเร็จในที่สุด
ให้คิดอย่างนี้นะครับ เพื่อเสริมสร้างให้ตัวเองคิดในแง่บวกให้ได้
-Positive Thinking เป็นของฟรี เราไม่ได้เสียหายอะไรที่จะมองในแง่บวก แถมเราสบายใจด้วย
-Positive Thinking เป็นปฏิกิริยายาลูกโซ่
ที่ทำให้คนข้างเคียงเกิดการเลียนแบบ มีผลต่อการพัฒนาตัวเราเองและคนข้างเคียงเกิดการเลียนแบบ มีผลต่อการพัฒนาตัวเราเอง และคนข้างเคียงและสังคมโดยรวม นอกจากนั้นยังมีผู้กล่าวว่า ความคิดของคนเราที่คิดด้วยความเชื่อมั่นในทางบวก เหมือนมีกระแสแม่เหล็กที่ถึงคนที่คิดในลักษณะเดียวกันให้เข้ามาหากัน เกิดเพิ่มกลุ่มแกนที่คิดในทางบวกมาเสริมกัน ทำให้มีพลังขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี
-จงช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ลำบากกว่าเรา จะช่วยให้เราลืมความทุกข์ที่รุมเร้า และมีชัยชนะโดยง่าย
- จงนับส่วนที่ท่านมี อย่านับส่วนที่ท่านขาด
ในชีวิตจริงนั้น คนส่วนใหญ่มีส่วนที่ดี และส่วนที่บกพร่อง และส่วนที่มีส่วนที่ขาด คละกันไป แต่วิธีมองนั้นทำให้คนมีชีวิตที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง คนที่มองส่วนที่มีก็จะรู้จักชื่นชมยินดี ส่วนคนที่มองแต่ส่วนที่ขาด ก็จะนำไปเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่า ทำให้เกิดความอิจฉา เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ เช่นคนหนึ่งบ่นน้อยใจที่ตนเองไม่มีเงินซื้อรองเท้าดี ๆ มาใส่ ใส่แต่รองเท้าเก่า ๆ ขาด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งไปเห็นคนที่ไม่มีแม้แต่เท้า (คนขาด้วน) จะใส่รองเท้า จึงเลิกบ่นเรื่องรองเท้าเก่าของตนเอง

อย่าลืมนะครับว่าชีวิตคนเรานั้นสั้น สนุกกับมันดีกว่า และสมองอะ มีพลังสำคัญ คุณเป็นอย่างที่คุณคิด ถ้าคุณคิดลบ มันก็ลบกับคุณ แย่กับคุณ (นี้เป็นเหตุผลที่ผมไม่คุยเรื่องการเมืองแล้ว อิๆ ไม่มีประโยชน์จะเถียงด้วยจริงๆ การมองโลกในแง่ดี คือให้หลบๆออกมาครับ ไม่เกิดประโยชน์ เราช่วยประเทศในมุมมองในแบบของเราได้ เพราะต่างฝ่ายต่างหวังดีด้วยกันทั้งนั้น(เอานานิดนึง) )
การคิดในทางบวก เริ่มต้นที่การเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและธรรมชาติ
ทำให้เห็นความดีของตนเอง ของผู้อื่นและธรรมชาติที่แวดล้อมเรา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทำให้สามารถชื่นชมสิ่งดี ๆ มีความสุขใจมากกว่าทุกข์ใจ มีเพื่อนมากกว่ามีศัตรู มีสุขภาพ
มากกว่าโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ชัดเจนขึ้นว่า คนที่มองโลกในแง่บวกจะสุขใจและมีอายุยืนยาวกว่าการที่มองโลกในแง่ลบ เพราะความสุขใจหรือความปิติที่เกิดขึ้นนั้นจะกระตุ้นสมองให้หลั่ง "สารสุข" หรือ "Endorphine " ออกมา ทำให้แก้ปวด คลายเครียด เพิ่มภูมิต้านท่านโรคแก่ร่างกาย กินได้ นอนหลับดี สุขภาพโดยรวมก็ย่อมดีขึ้น ตรงกันข้ามคนที่เครียดตลอดเวลา จะหลั่ง "สารทุกข์" คือ Adrenaline ออกมามาก ก็จะกระตุ้นให้ใจสั่น นอนไม่หลับ ท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และมักจะเกิดโรคแทรก หรือโรคจิต ประสาทขึ้นมาได้ บางคนเกิดภาวะซึมเศร้า ถึงกับฆ่าตัวตายได้
หลวงจิจิตร วาทการ จึงสอนเราในโคลงกลอนอีกตอนหนึ่งว่า
"สองคนยนตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวพราวแพรว"


มี ท่าน ว.วชิรเมธีเคยกล่าวเกี่ยวการคิดในเชิงบวกไว้ด้วยครับ ยาวมากเสียดายที่จำไม่ได้(แต่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน จะยกมาก็กลัวไม่เหมือน)จำได้อันแรก คราว คือ
เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี้คือ โอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ
เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี้คือ บทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
เวลาเจอทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี้คือ แบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต

Wednesday, July 14, 2010

เทคนิคการพัฒนาตนเอง : ข้อคิดในการบริหารชีวิตเชิงมิติ

หลายคนเกิดคำว่า “เสียดาย” ขึ้นในจิตใจ บางคนถึงกับบ่นออกมาว่า “ไม่น่าเลย รู้อย่างนี้น่าจะทำให้ดีกว่านี้”สาเหตุสำคัญเกิดจากความไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ของมิติแห่งชีวิต การขาดการเชื่อมโยงเหตุและผลของกิจกรรมในชีวิตในแต่ละช่วงเวลา
ชีวิตของคนเรามีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนคือ ร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม และมี 3 มิติคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งทั้ง 3 ส่วนและ 3 มิตินี้ จะมีความสัมพันธ์กันชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว

ถ้ามองในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบ่ต่างๆแล้ว จะเห็นว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ เช่น จิตใจหดหู่ ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและสังคม ในทางกลับกันถ้าร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์จิตใจเข้มแข็ง แต่ถ้าต้องอยู่ภายในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มี โอกาสที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนแอก็มีมากเหมือนกัน

ถ้ามองในแง่ของมิติของชีวิตจะพบว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ มีอยู่ ในปัจจุบันนั้น เป็นผลพวงที่เกิดจากมิติในอดีตทั้งนั้นเลย เช่น การที่เรามีงานทำเกิดจากการที่เรามีความรู้จากการศึกษา จากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ การที่เรามีบ้านในวันนี้เป็นเพราะเราเก็บเงินสร้างบ้านมาเมื่อหลายปีก่อน ถ้าเราไม่มีเมื่อวาน เราก็คงไม่มีวันนี้

ในขณะเดียวกันสิ่งที่เรากำลังทำ เป็นอยู่ มีอยู่ ในปัจจุบันนี้คือสะพานหรือรากฐานที่จะบันดาลอนาคตของเราเช่นเดียวกันกับที่อดีตสร้างปัจจุบันให้เรา งานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้นี้คือบันไดแห่งความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นในอนาคต ชีวิตครอบที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คือรากฐานของครอบครัวลูกหลานในวันหน้า ความรู้และประสบการณ์ในวันนี้คือบทเรียนในวันพรุ่งนี้

คนที่ต้องการพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จในชีวิตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารชีวิตบนพื้นฐานของการสร้างความสมดุลของ 3 ส่วนและ 3 มิติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมคงไม่สามารถเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาเหมือนเรื่องอื่นๆได้ เพราะชีวิตใครก็ชีวิตใคร ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับเจ้าของชีวิต ผมเพียงแต่อยากจะให้ข้อคิดเพื่อสะกิดใจให้กับท่านผู้อ่านในบางประเด็นเท่านั้น เชน
ได้อย่างเสียหลายอย่าง เราจะเห็นว่าคนทำงานที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหลายคน มักจะประสบกับความล้มเหลวด้านร่างกาย เพราะในขณะที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อความสำเร็จอยู่นั้น ขาดการดูแลร่างกาย ขาดการดูแลครอบครัวและสังคมรอบข้าง วันหนึ่งเมื่อความสำเร็จในหน้าที่การงานมาเยือน มันจะชักชวนเพื่อนที่เป็น “โรค” และ “ความล้มเหลวในชีวิตครอบครัว” มาด้วย เรื่องนี้คงจะพอเป็นข้อคิดให้กับผู้อ่านว่า “อย่าเอียง” ไปในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ขอให้เดินทางสายกลาง เพราะวันหนึ่งสิ่งที่ได้มา (ทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน) มันไม่สามารถมาชดเชยกันสิ่งที่จะเสียไป (การเจ็บป่วย ครอบครัวแตกแยก) ไม่ได้
อดีตคือประวัติศาสตร์ที่แก้ไม่ได้ คนหลายคนที่มีโอกาสที่ “เกือบจะ” ประสบความสำเร็จในชีวิตในด้านต่างๆมากมาย แต่เพราะ “อดีต” เป็นขวากหนามที่สำคัญ ทำให้พลาดโอกาสนั้นๆไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ผู้จัดการบางคนเป็นคนที่เก่งมาก ผลงานในตำแหน่งผู้จัดการดีมาก ถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ติดอยู่ที่ว่าเมื่อตอนที่เป็นพนักงาน เคยทำผิดในกรณีทุจริตเล็กน้อยมาก่อน หรือเพียงแค่มีข่าวแว่วๆมาว่าไม่ค่อยโปร่งใส เท่านี้ “ประตูชัยแห่งความสำเร็จ” ก็ปิดรับผู้จัดการคนนั้นไปเกือบสนิทเลยทีเดียว
คำนึงผลตอบแทนระยะสั้น ด้วยเงื่อนไข “ถ้า(If).......” คนทั่วไปมักจะดึงเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ตามระดับของปัจจัยดึงดูดที่นิยมเรียกกันว่า “ผลตอบแทนระยะสั้น” หรือ “ระดับความพึงพอใจ” มากเกินไป เช่น ถ้าเงินเดือนขึ้นเยอะก็จะทุ่มเททำงานให้มากขึ้น ถ้าได้เลื่อนตำแหน่งจะพัฒนางานให้มากกว่านี้ ถ้าหัวหน้าด่ามากๆ จะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และมีอีกหลายถ้า...
ความสำเร็จคือผลสะท้อนกลับของการกระทำ การกระทำทางกาย วาจา ใจ ต่อตัวเองและผู้อื่นในอดีตจะถูกสะท้อนออกมาเป็นผลสำเร็จหรือล้มเหลวในปัจจุบัน เช่น เราเคยทำร้ายจิตใจคนอื่นมาก่อน วันนี้เขาอาจจะกลับมาทำร้ายร่างกายของเรา ทำลายอนาคตหน้าที่การงานของเรา เราเคยบาดเจ็บทางด้านจิตใจเนื่องจากมีปมด้อยมาก่อน ปมด้อยนั้นอาจจะเป็นแรงฮึดให้เรามาสู่ความสำเร็จในปัจจุบันก็ได้ เช่นเดียวกันกับการบริหารร่างกาย จิตใจ และสังคมของเราในปัจจุบัน จะส่งผลสะท้อนกลับมาหาเราในอนาคตได้เช่นเดียวกัน เช่น วันนี้เราดูแลร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันหนึ่งในอนาคตอาจจะส่งผลให้เรามีร่างกายแข็งแรงเพียงพอที่จะขึ้นไปทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรก็ได้ เพราะคงไม่มีบริษัทไหนจ้างผู้บริหารที่เก่งมาก แต่เจ็บป่วยออดๆแอดๆมาทำงานวันเว้นวันหรอกนะครับ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อคิดเพียงเล็กๆน้อยๆ ที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าชีวิตเราไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่มิติใดมิติหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ชีวิตเราคือทุกสิ่งทุกอย่างทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราจึงต้องให้ความสำคัญมากพอๆกัน

ก่อนจากกันในวันนี้ผมขอทิ้งท้ายให้คิดกันเล่นๆนะครับว่าในความเป็นจริงของชีวิตแล้ว เราจะพบว่า “ความสำเร็จ” ที่เราภาคภูมิใจมากที่สุดไม่ใช่ความสำเร็จที่เรา “คาดหวัง” แต่เป็นความสำเร็จที่ “ไม่คาดหวัง” มากกว่า เช่น เราทำงานหนักเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง เมื่อเราได้เลื่อนตำแหน่งเราก็ดีใจมาก แต่ถ้าเราได้รับการคัดเลือกให้เป็น “พนักงานดีเด่นประจำปี” ผมคิดว่าเราจะดีใจมากกว่าการได้เลื่อนตำแหน่งหลายเท่า ดังนั้น เพื่อแสวงหา “ความสำเร็จที่ไม่คาดหวัง” จึงอยากกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านทุกคนจงทำงานทุกอย่างให้ดีที่สุดอย่างเต็มศักยภาพที่มีอยู่ แล้วความสำเร็จที่ท่านอยากได้ อยากเป็น จะมาพร้อมกับความสำเร็จที่ท่านไม่คาดหวังนะครับ

ที่มา
http://www.peoplevalue.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539104259&Ntype=1