Wednesday, September 29, 2010

โรคไมเกรน (MIGRAINE) : เคล็ดลับ 9 ประการ

ที่มา http://www.oknation.net/blog/healthforyou/2009/09/06/entry-2

1.โรคไมเกรน (MIGRAINE) คืออะไร? และทำไมจึงเรียกไมเกรน (MIGRAINE)?

โรคไมเกรนคือโรคที่เกิดจากการบีบตัวและคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปรกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัวหรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย

โรคไมเกรนนี้ รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัย GALEN คือ ราวสองพันปีมาแล้ว คำว่าไมเกรน (Migraine) นี้มาจากคำสองคำคือ HEMI + CRANIUM คำ HEMI แปลว่า ครึ่งซีก ส่วน RANIUM แปลว่า ศีรษะหรือหัว เมื่อคำสองคำมาผสมกันเป็น HEMICRANIUM แต่ยาวเกินไป จึงตัด "HE" ส่วนหน้าออกและ "IUM" ส่วนหลังทิ้ง จึงเหลือ "MICRAN" ในภาษาลาติน ภาษาอังกฤษมาแปลงใหม่เป็น MIGRANE ในภาษาไทยมีคำแปลว่า "โรคตะกัง" แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้กันแต่อย่างใด, จึงมักเรียกทับศัพท์กันว่า "โรคไมเกรน (MIGRAINE)"

2.โรคนี้พบบ่อยแค่ไหน?

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อาการปวดหัวหรือปวดศีรษะนั้นเป็นอาการที่พบบ่อยในประชาชนทั่วๆไป จนเรียกได้ว่าไม่มีใครที่จะไม่เคยปวดหัวเลย อาการปวดหัวนั้นอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆมากมาย เช่น โรคที่พบบ่อยได้แก่ ตัวร้อนหรือเป็นไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดฟัน ตาแดง หูอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ ตลอดจนโรคที่พบน้อยแต่มีอันตราย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมองและเลือดออกในสมอง เป็นต้น

ในทางการแพทย์แบ่งอาการปวดศีรษะออกเป็น 2 ชนิดคือ :

1.ปวดศีรษะชนิดเฉียบพลัน, ซึ่งมักจะมีสาเหตุจากการอักเสบ หรือติดเชื้อในบริเวณโพรงจมูก คอ ปาก หูและตาดังกล่าวแล้ว

2.ปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งมักมีสาเหตุใหญ่ๆเพียง 2 ชนิดคือ

ก.โรคไมเกรน

ข.โรคปวดศีรษะจากความเครียด

ส่วนภาวะเนื้องอกในสมอง หรือการตกเลือดในสมองนั้น พบได้น้อยมากไม่ถึง 0.01 % ของผู้ที่มีอาการปวดหัวทั้งหมด ดังนั้น ถ้าใครปวดหัวและกังวลว่าตัวเองจะมีเนื้องอกในสมองหรือมีเลือดออกในสมองนั้นมีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก แต่มักจะปวดศีษะจากความเครียด หรือโรคไมเกรน มากกว่า

มีคนถามว่า โรคไมเกรนกับโรคปวดศีรษะจากความเครียดนั้นอย่างไหนจะพบมากกว่ากัน

คำตอบคือ โรคไมเกรนจะพบราว 7% ของประชากร, ส่วนโรคปวดศีรษะจากความเครียดนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะสิ่งแวดล้อม เศรษฐฐานะ และสภาพของสังคม ในเมืองหลวงจะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากกว่าในชนบท ปัจจุบันนี้คงยอมรับว่า เกือบทุกคนมีความเครียด แต่ใครจะปวดหัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับรูปแบบต่างๆ ของการแสดงออกของอาการเครียด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืดเฟ้อ ตลอดจนท้อแท้เบื่อหน่ายได้

3.โรคไมเกรนมีอาการอย่างไร?

โรคไมเกรน ความจริงไม่น่าจะจัดว่าเป็นโรคแต่อย่างใด, เพราะเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปรกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้ซึ่งมีอยู่มากมายในสมองก็จะมีบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำแต่ไม่มากจึงไม่ปวดหัว ในผู้ป่วยไมเกรนจะไม่พบพยาธิสภาพใดๆในหลอดเลือดแดงของสมอง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการแต่อย่างใด

อาการของโรคไมเกรน ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ ดังนี้ :

1.ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกัน หรือเป็นสลับข้างกันได้

2.ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ๊บๆ นานครั้งหนึ่งๆเกิน 20 นาที (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรงอาจปวดนานเป็นวันๆ หรือสัปดาห์ก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆสลับกับปวดตุ๊บๆในสมองก็ได้

3.อาการปวดศีรษะมักเป็นรุนแรง และส่วนมากจะมีคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้

4.อาการนำจะเป็นอาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อนหรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำหน้ามาก่อน



4.ใครบ้างที่เป็นโรคไมเกรน?

โรคไมเกรนพบบ่อยในผู้หญิงวัยสาว ระหว่าง 20-40 ปี ในเด็ก และผู้สูงอายุพบน้อย ผู้ชายพบว่าเป็นไมเกรนน้อยกว่าผู้หญิง 3-4 เท่าตัว แต่ถ้าผู้ชายเป็นมักจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยมีอาการปวดตาข้างใดข้างหนึ่ง น้ำตาไหล ตาแดง ปวดรุนแรงมากติดต่อกันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ และอาจเป็นซ้ำบ่อยๆทุก 6-12 เดือน โรคไมเกรนมักพบบ่อยกับสมาชิกอื่นๆในครอบครัวที่เป็นผู้หญิง เช่น แม่ น้องสาว น้า ป้า เป็นต้น

5.มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้โรคไมเกรนเป็นมากขึ้น?

เป็นที่ทราบกันดีว่าตัวกระตุ้นหรือทำให้เกิดอาการของโรคไมเกรนมากขึ้นได้แก่

1.ภาวะเครียด
2.การอดนอน
3.การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
4.ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
5.เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
6.อาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไมเกรนจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภาวะต่างๆเหล่านี้ ผู้ป่วยทุกคนต้องสังเกตตัวเองว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคไมเกรนในตนเองเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและแก้ไขได้ตรงจุด

6.เมื่อไรโรคไมเกรนจึงหาย?

เป็นที่ยอมรับกันว่า โรคไมเกรนก่อให้เกิดภาวะปวดศีรษะเรื้อรังนานเป็นปีๆ บางรายอาจนานเป็นสิบๆปี จึงมักทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลว่า ทำไมตัวเองจึงไม่ยอมหายจากภาวะปวดศีรษะนั้น และวิตกว่าจะมีความผิดปรกติในสมองต่างๆ เช่น เนื้องอกหรือเลือดคั่งในสมอง หรือเกรงว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการตามมาภายหลัง

ในกรณีนี้จะทำให้อาการปวดศีรษะเลวลงเพราะจะเกิดอาการปวดศีรษะจากภาวะเครียดเพิ่มขึ้นมาทับถมอีก การปวดศีรษะจากภาวะเครียดนั้นพูดโดยย่อ จะปวดแบบตื้อๆ หนักศีรษะทั่วทั้งศีรษะบางรายจะบอกว่าปวดเหมือนมีอะไรมาบีบรัดโดยรอบหัว อาการนี้จะเป็นมากตอนบ่ายๆ หรือสายๆ ช่วงเช้าไม่ค่อยปวด หลังนอนพักอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้เพราะเกิดจากการบีบเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบศีรษะและบริเวณคอ

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไมเกรนจะไม่มีอันตรายใดๆที่จะก่อให้เกิดการพิการหรือทุพพลภาพตามมาแต่อย่างใด โดยปรกติอาการปวดศีรษะชนิดไมเกรนนี้จะลดความรุนแรงลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเลยวัยหมดระดูไปแล้ว จะพบผู้ป่วยไมเกรนน้อยมาก

7.ผู้ป่วยโรคไมเกรนต้องรับการตรวจวินิจฉัยอย่างไรบ้าง?

โรคไมเกรนเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ไม่มีวิธีการวินิจฉัยทางอื่นใด ดังนั้น การเจาะเลือด เอกซเรย์ หรือการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด กลับจะเจ็บตัวและอาจเป็นอันตรายหรือเสียเงินทองโดยไม่จำเป็น

8.โรคไมเกรนรักษาอย่างไร?

การปวดศีรษะจากโรคไมเกรน มักรักษาไม่หายด้วยยาแก้ปวดพาราเซตตามอลธรรมดา ยาที่ได้ผลดีคือยาแก้ปวดแอสไพริน ขนาด 2 เม็ด ในขณะปวด แต่ข้อระวังห้ามรับประทานแอสไพรินในขณะท้องว่าง และผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้มากๆ และอาจทำให้ถึงแก่กรรมได้ ในผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่าจะมีโรคกระเพาะหรือไม่ให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารหรือนมร่วมด้วย ก็จะป้องกันการระคายเคืองของแอสไพรินต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้

9.จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคไมเกรนได้อย่างไร?

ในผู้ป่วยโรคไมเกรนที่นานๆ เป็นครั้ง เช่นปีละ 2-3 หนไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันแต่อย่างใด แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไมเกรนที่เกิดอาการปวดศีรษะบ่อยๆ เช่นเกือบทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน จำเป็นต้องให้การป้องกันโดยการหลีก เลี่ยงปัจจัยส่งเสริมให้เกิดดังกล่าวแล้ว ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยส่งเสริมดังกล่าวอาจจำเป็นต้องให้ยาป้องกัน ซึ่งแบ่งได้หลายชนิด เช่น

ก. ERGOT ALKALOIDS เป็นยาป้องกันมิให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว
ข. BETA BLOCKER
ค. CALCIUM CHANNEL BLOCKER
ง. ANTIDEPRESSANT เป็นต้น
จ. SEROTONIN ANTAGONIST เป็นต้น

ยาในกลุ่มดังกล่าวเป็นยาอันตราย และมีผลข้างเคียงทุกชนิด จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้และรับประทานตามกำหนดในช่วงเวลาจำกัด การซื้อใช้เองอาจเกิดผลร้ายได้

โรคไมเกรน

อาจเกิดจากอาการเครียดจากหน้าที่การงาน หรือโรคภัยอย่างอื่น
เป็นไมเกรน หรือไม่เป็น ควรหยุดงานสักวัน และ อ่านขัอมูลข้างล่าง

นายภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) กล่าวถึงอาการไมเกรนที่พบผู้ป่วยเป็นกันมาก ว่า ไมเกรน คือ โรคปวดศีรษะที่เกิด จากการหดและขยายตัวอย่างผิดปกติของเส้นเลือดแดงบริเวณศีรษะ
ผู้ที่เป็นไมเกรนจะมีอาการปวดศีรษะตุบๆตามชีพจร ปวดอยู่ข้างเดียว บางครั้งอาจสลับข้าง น้อยรายที่พบว่าจะปวดศีรษะ 2 ข้างพร้อมกัน บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น มือไม้ เย็น รู้สึกไวต่อแสงสว่างและเสียงด้วย ซึ่งอาการปวดศีรษะที่เป็นอาจคงอยู่เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือนานเป็นเดือนก็มี ไมเกรนส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นปัญหาของวัยรุ่น และคนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงอายุหลายเท่า
นายภักดีกล่าวว่า สำหรับสาเหตุและกลไกการเกิดอาการของไมเกรนยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนัก จึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแค่ยาบรรเทา หรือป้องกันอาการปวดได้ โดยอาจรับประทานยากลุ่มบรรเทาปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ฯลฯ ซึ่งเป็นยาที่ทุกครอบครัวมักมีอยู่ประจำบ้าน
นายภักดีกล่าวต่อว่า ยังมีวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน ลด และบรรเทาอาการปวด โดยไม่ต้องพึ่งยาด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

ประการแรก ต้องพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ไม่นอนดึกจนเกินไป เพราะหากพักผ่อนน้อย นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแล้ว ยังจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้ออีกด้วย

ประการที่สอง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิก หรือการว่ายน้ำ เป็นต้น โดยทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีติดต่อกัน

ประการที่สาม ต้องมีการควบคุม หรือวิธีการขจัดความเครียด โดยการหาเวลานั่งพัก หลับตา หยุดคิดเรื่องราวต่างๆ และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือการทำสมาธิ ฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก อย่างมีสติ

ประการที่สี่ ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ อย่าอดอาหาร และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน จำพวกแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง รวมทั้งหลีกเลี่ยงผงชูรส เนย นม ช็อกโกแลต กล้วยหอม ผลไม้ประเภทส้ม กาแฟ และชา

ประการที่ห้า หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ เช่น สถานที่ที่มีแดดจัด อากาศร้อน เสียงดัง ไฟกะพริบ หรือหลีกเลี่ยงกลิ่นที่รุนแรง เช่น กลิ่นน้ำหอม และกลิ่นบุหรี่ เป็นต้น ประการที่หก งดการสูบบุหรี่

และประการสุด ท้าย หากเกิดอาการปวด ควรลดหรือบรรเทาอาการปวดไมเกรน โดยรีบใช้ น้ำแข็งประคบ โดยนำผ้าขนหนูห่อก้อนน้ำแข็งไว้ แล้วนำมาลูบช้าๆ บริเวณที่ปวด ก็จะทำให้ รู้สึกดีขึ้นได้ หรือจะใช้ น้ำมันสะระแหน่นวดบริเวณที่ปวด.
.........................................................................................................................................................

“ปวดหัว” หรือ “ปวดศีรษะ” ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรคหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งกว่าจะหาสาเหตุได้ก็ต้องใช้เวลานาน
อาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากโรคที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นโลหิตแตก พยาธิ อาการมักเป็นรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องรีบไปหาแพทย์รักษา แต่ปวดหัวจากความวิตกกังวล ความเครียด ความคิดถึง ความเป็นทุกข์ นอกจากจะหาตำแหน่งและเวลาปวดที่แน่นอนไม่ค่อยได้ ยังเกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับ กินไม่ได้ หงุดหงิด

การช่วยเหลือถ้ามีบุคคลในบ้านปวดหัว ปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ใหญ่ให้รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล 2 เม็ด สำหรับเด็กกินครั้งละ 1 เม็ด ถ้ายังไม่หายรับประทานซ้ำได้อีกห่างจากครั้งแรก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 3 วัน

2. ถ้าอากาศร้อน ให้อยู่ในที่ลมโกรก หรือเปิดพัดลม หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ นั่งเอน หลับตา หรือนอนหลับตาสักครู่ อาจทำให้หลับไปหายจากอาการปวดหัวได้

3.ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือผ้าเย็นวางบริเวณที่ปวด

4. หาสาเหตุจากการซักถาม ได้แก่

- ปวดฟันหรือไม่ เพราะถ้าปวดฟันหรือฟันผุ การเจ็บปวดจะติดต่อถึงกันได้ รักษาฟัน ปวดหัวก็หาย

- กำลังมีประจำเดือนหรือไม่ เพราะระยะมีประจำเดือนระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนไป อาจปวดหัวได้ ให้ยาแก้ปวดหัว พอหมดระยะประจำเดือนก็หาย

- รับประทานยาคุมกำเนิดหรือไม่ เพราะบางคนอาจปวดหัวจากปฏิกิริยาของฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด ที่รับประทานนานเกินไป หรือเพิ่งรับประทานใหม่ๆ ซึ่งถ้าเป็นบ่อย ไม่ทุเลาลงควรเปลี่ยนวิธีหรือถ้ามีบุตรเพียงพอแล้ว แนะนำให้ทำหมันเลย

- อดนอนหรือไม่ การอดนอนทำให้ประสาทตึงเครียด

- หิวข้าวหรือไม่ บางครั้งการอดอาหารทำให้น้ำตาลไปเลี้ยงสมองไม่พอเกิดการปวดหัว ให้ดื่มน้ำหวานหรืออมทอฟฟี่ แล้วรับประทานอาหาร ถ้าหายก็แสดงว่าใช่

- มีอาการตามัว ตาพร่า อาเจียนพุ่ง ต้องรีบนำส่งสถานพยาบาล เพราะอาจเกิดจากโรคของสมองได้

- วิตกกังวลหรือไม่ เศร้าเสียใจหรือไม่ ข้อนี้ต้องมีวิธีการซักถาม เพราะบางครั้งผู้ถูกถามอาจจะสะเทือนใจหรืออาย จึงปิดบังไม่ตอบความจริง แต่ถ้าอยู่บ้านเดียวกัน อาจทราบเหตุการณ์ดี ดังนั้นเมื่อให้กินพาราเซตามอลแล้ว อาจให้ไดอะซีแพม 2 มิลลิกรัม 1 เม็ดก่อนนอนด้วย และพยายามปลอบโยน ใช้สมาธิและปัญญาเข้าช่วย

- สายตาผิดปกติหรือไม่ ประเภทนี้มักปวดหัวตอนอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ แนะนำให้ไปตรวจสายตา
- เจ็บคอ เป็นหวัด เป็นไข้ แพ้อากาศ เหล่านี้ต้องรักษาให้หาย

5. ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ ถ้าเป็นโรคให้รักษา ถ้าไม่ใช่ให้หลีกเลี่ยงหรือสู้

6. ถ้าปวดหัวแล้วกลับจากงานอาจเกิดจากอ่อนเพลีย เมารถ เมาอากาศ ให้อาบน้ำสระผม และนั่งพักอาการจะดีขึ้น ถ้าคร่ำเคร่งกับหนังสือกับหนังสือให้ลุกขึ้นเดิน สูดหายใจเข้ายาวๆ มองไปไกลๆ ถ้าเป็นทุ่งนา ทุ่งหญ้ายิ่งดี และกลอกตาไปมาเป็นการบริหารกล้ามเนื้อตาที่เครียดด้วย

7. แต่ถ้าแนะนำทั้งหมดแล้วยังเหมือนเดิม ควรแนะนำต่อไปคือ ให้ไปสถานพยาบาลเพื่อได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง

Tuesday, September 14, 2010

การพัฒนาบุคลิกภาพ

http://www.tice.ac.th/Online/Online2-2549/bussiness/nantapon/n7.htm

การพัฒนาบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพ คือ ลักษณะท่าทางซึ่งสามารถแสดงออกมาได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความรู้สึกนึกคิด ที่สะท้อนออกมาให้ผู้อื่นเห็นและเกิดความประทับใจ ฉะนั้น การที่บุคคลจะได้รับการยอมรับนับถือ การสนับสนุน ความไว้วางใจ และความประทับใจจากผู้อื่นนั้น ก็ควรที่จะแสดงบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมให้ผู้อื่นเห็น เพราะบุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

1. ความหมายและความสำคัญของบุคลิกภาพ
คำว่า "บุคลิกภาพ" หมายถึง คุณลักษณะทางกาย ทางจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดที่สะท้อนออกมาให้ผู้อื่นเห็นและเกิดความประทับใจมากน้อยเพียงใด

มีความสำคัญคือ บุคลิกภาพนับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง จึงส่งผลต่อการยอมรับนับถือ การให้ความร่วมมือ การสนับสนุน และความไว้วางใจจากผู้อื่น

2. ประเภทของบุคลิกภาพ
2.1 บุคลิกภาพภายนอก คือ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอกของแต่ละคน สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน แบ่งได้เป็น 4 หมวด คือ
1. รูปร่างหน้าตา
2. การแต่งกาย
3. กิริยาท่าทาง
4. การพูด
2.2 บุคลิกภาพภายใน คือ สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ หรืออุปนิสัยใจคอที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ แก้ไขได้ยาก เช่น
1. ความเชื่อมั่นในตนเอง
2. ความซื่อสัตย์สุจริต
3. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4. ความรับผิดชอบ

3. หลักและวิธีเสริมสร้างบุคลิกภาพ
การยืน เดิน นั่ง เป็นส่วนสำคัญที่บอกถึงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล งามอิริยาบถ คือ การเดิน ยืน นั่ง เปิด-ปิดประตู ขึ้นลงรถ อย่างถูกต้องสวยงาม
การรู้จักทำตัวให้เข้ากับบุคคล สถานที่ และเวลา อย่างถูกต้องถือว่ามีมารยาททางสังคมที่ดี เช่น การรู้จักกราบไหว้ที่ถูกวิธี และถูกกาลเทศะ การรู้จักธรรมเนียมของชาวต่างชาติ การปฏิบัติตนในงานเลี้ยงต่าง ๆ การไปเยี่ยมคนป่วย การมอบดอกไม้แสดงความยินดีหรือให้ผู้อาวุโส เป็นต้น
บางครั้งเราอาจจะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ และอาจเกิดอะไรขึ้นกับเราได้ทุกวินาทีนั้น เราต้องพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะที่พร้อม คือ ไม่ตกใจ ดีใจ เสียใจ กลัว เกินกว่าเหตุ สามารถควบคุมท่าทางของตนเองได้เป็นอย่างดี

4. แนวทางในการพัฒนาบุคลิกภาพ
4.1 การรักษาสุขภาพอนามัย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มหรือลดผิดปกติ
- ละเว้นการสูบบุหรี่หรือยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
- ไม่ดื่มสิ่งของที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชม.
- รักษาอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ

4.2 การดูแลร่างกาย
- รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน
- ดูแลรักษาเส้นผมและทรงผมให้เรียบร้อยทั้งด้านความสะอาดและรูปทรง
- โกนหนวดเคราให้เกลี้ยงเกลา ตัดและขริบให้เรียบร้อย
- รักษาผิวพรรณให้สะอาดสดชื่นอยู่เสมอ อย่าให้ผิวแห้งกร้าน
- รักษากลิ่นตัว
- รู้จักการแต่งหน้าแต่พองาม
- ดูแลเล็บมือ เล็บเท้า ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในที่สวมใส่ทุกวัน
- ควรมีการเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปี
- เมื่อร่างกายมีอาการผิดปกติรีบไปปรึกษาแพทย์

4.3 การแต่งกาย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ซักรีดให้เรียบ
- สีสันไม่ฉูดฉาด ควรเลือกสีให้เหมาะสมกับรูปร่างและผิวพรรณของตนเอง
- กระเป๋าถือและรองเท้า ควรใช้หนังที่มีคุณภาพดี สีเรียบ สำรวจส้นรองเท้าจัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย
- แต่งหน้าให้แนบเนียน ไม่แต่งเข้มผิดธรรมชาติ เลือกใช้เครื่องสำอางค์ที่มีคุณภาพดี
- เล็บและการทาเล็บ ไม่ควรไว้เล็บยาวจนเกินไป ควรเลือกสีกลาง ๆ อย่าปล่อยให้สีถลอกจะไม่น่าดู
- ผม หมั่นสระให้สะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แปรงหวีให้เรียบร้อย เลือกทรงผมที่รับกับใบหน้า
- เครื่องประดับ ควรใช้เพื่อเสริมการแต่งกายให้ดูดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้เครื่องประดับมากจนเกินไปจนดูสะดุดตารกรุงรังไปหมด
- ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม
- ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

4.4 อารมณ์
รู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ไปตามใจตนเอง คนที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้จะได้เปรียบและจะเอาชนะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ในการปฏิบัติงานเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนอารมณ์กันอยู่เสมอ
ฉะนั้น บุคคลใดที่ต้องการจะพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้ดีขึ้น จะต้องเป็นคนรู้จักอดทนใจเย็นเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเกิดขึ้น

4.5 ความเชื่อมั่นในตนเอง
- ยอมรับในความสามารถของตนเอง
- อย่าเล็งผลเลิศในการทำงานจนเกินไป
- อย่าถือคติว่าการทำงานสิ่งใดเมื่อทำแล้วต้องดีที่สุด
- อย่านำความเก่งของผู้อื่นมาทับถมตนเอง
- หมั่นฝึกจิตใจตนเองให้ชนะความกลัวให้ได้

5. การพัฒนาบุคลิกภาพด้านความรู้สึกนึกคิด
ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดในด้านดี ไม่มองคนในแง่ร้าย จิตใจก็เป็นสุข ไม่มีความกังวล ดังนั้น เลขานุการจึงควรพัฒนาบุคลิกภาพด้านความรู้สึกนึกคิดดังนี้
1. มีความเชื่อมั่นในตนเองในการกระทำในสิ่งต่าง ๆ
2. มีความซื่อสัตย์ กระทำตนให้ผู้อื่นเชื่อถือเรา แล้วความไว้วางใจจะตามมา มีเรื่องสำคัญเขาก็จะให้เราทำ
3. มีความสามารถที่จะทำสิ่งเหล่านั้น ให้เหมาะสมกับผู้ที่มอบหมายไว้วางใจให้เราทำ
4. มีความกระตือรือร้น ที่อยากจะทำ เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักปรับปรุงงานอยู่เสมอ
6. มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีความห่วงใยจะต้องทำให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา
7. มีความรอบรู้
8. ห่วงตัวเอง เติมชีวิตให้กับตัวเอง
9. มีความจำแม่น
10. วางตัวเหมาะสมกับกาลเทศะ

6. การพัฒนาบุคลิกภาพด้านกายบริหารทรวดทรง
องค์ประกอบของทรวดทรง ขึ้นอยู่กับกลไกของการเคลื่อนไหวของร่างกายและโครงสร้างของร่างกายไม่ว่าหญิงหรือชายก็ชอบที่จะมีรูปร่างงามทั้งนั้น ผู้ชายก็ต้องการมีรูปร่างสมาร์ท ผู้หญิงก็ต้องการมีเอวบาง ร่างน้อย มีสุขภาพดี การมีรูปร่างงาม สุขภาพดี เกิดจากการพัฒนาตัวเราเอง เราเป็นผู้วางแผนในชีวิตของเราเอง
ทรวดทรงอาจไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่ส่วนสัดและท่าทาง ทำให้คนทุกคนดูแตกต่างกันไป บุคลิกที่ไม่ดีแสดงว่าเจ้าของเรือนร่างขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าได้เรียนรู้วิธีเสริมสร้างเสน่ห์ให้กับบุคลิกภาพของตนเองแล้ว จะไม่เพียงทำให้มีรูปร่างสง่างามเท่านั้น ยังสามารถทำให้การปฏิบัติงานเกิดความเชื่อมั่น งานก็มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นเลขานุการจึงควรใช้เวลาในการบริหารทรวดทรงของตนเองเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะสุขภาพที่ดี และทรวดทรงที่งดงามอีกด้วย

การแบ่งเวลาและจัดสรรเวลาของตนเอง

ที่มา
http://www.tice.ac.th/Online/Online2-2549/bussiness/nantapon/n3.htm

การบริหารเวลา คือ การรู้จักวางแผนและจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างถูกต้องและเหมาะสม และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักบริหารเท่านั้นที่จะสามารถบริหารเวลาและการทำงาน ทุกคนก็สามารถทำได้เพียงแต่รู้จักที่จะแบ่งเวลาและจัดสรรเวลาของตนเองให้ถูกต้องและเหมาะสมตามวันเวลาที่กำหนด

1. ขั้นตอนการวางแผนเวลา
- กำหนดแผนการทำงาน
- การจัดลำดับความสำคัญของงาน
- ตรวจสอบแผนการจัดสรรเวลา
- กำหนดและแจกจ่าย
- การควบคุมเวลา

2. เทคนิคการบริหารเวลา
1. ต้องทำบันทึก สิ่งที่ต้องบันทึก
2. แบ่งงานให้เหมาะสม
3. ลำดับสิ่งที่ต้องทำงานก่อนหลังในแต่ละวัน
4. หาเวลาที่สงบทุกวัน เพื่อช่วยในเรื่องระบบสมาธิ
5. บอกช่วงเวลาที่ว่าง
6. หามุมสงบ หรือเอางานไปทำที่บ้าน ถ้าไม่ทันจริง ๆ
7. หมั่นแวะเวียน เยี่ยมเยียนลูกน้องเป็นครั้งคราว
8. ไปตามเวลานัดหมาย
9. หาเวลาพักไม่ว่างานมากแค่ไหน
10. อย่านัดหมายหรือประชุมติดกันเกินไป

3. หลัก 10 ประการ การบริหารเวลา
1. วางแผนการทำงาน
2. มีความตั้งใจในการทำงาน
3. หยุดพักชั่วขณะ
4. หลีกเลี่ยงความไม่เป็นระเบียบ
5. ไม่เป็นผู้ที่ต้องการความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด
6. ไม่ต้องกลัวที่จะกล่าวคำปฏิเสธ
7. อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง
8. มีการผ่าตัด ปรับปรุงใหม่ในเรื่องการสูญเปล่าของเวลา
9. การแบ่งเวลา แบ่งงานและมอบหมายงานให้เหมาะสม
10. อย่าเป็นโรคเหมางาน

4. การใช้เวลาของเลขานุการ
เวลาเป็นสิ่งมีค่ายิ่งในชีวิต ถ้าปล่อยเวลาให้สูญเปล่าก็เท่ากับทำให้เวลาเสียไปโดยใช่เหตุ ต้องฟังคำพังเพยที่ว่า "เวลาวารีไม่เคยคอยใคร เวลาที่ล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่" ฉะนั้นเลขานุการเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อองค์การ ต้องใช้เวลาในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1. ช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานให้มากที่สุด
2. ให้นายถูกขัดจังหวะน้อยที่สุด
3. ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแทน
4. จัดการนัดหมายให้เหมาะสม
5. ไม่รบกวนด้วยเรื่องที่ไม่จำเป็น
6. เลือกแขกที่จะเข้าพบ และโทรศัพท์ที่จำเป็น
7. มีข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมอยู่เสมอ
8. ช่วยรักษาอารมณ์
9. ทำงานถูกต้อง เรียบร้อย
10. จัดสถานที่ทำงานให้สะอาดเรียบร้อย

5. ระบบการบริหารเวลา
การบริหารเวลา คือ การจัดเวลาในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเพื่อให้ผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างน่าพอใจ
5.1 การกำหนดความสำคัญ (Set Priorities) โดยใช้สัญลักษณ์แทนดังนี้
A = งานที่มีความสำคัญต้องทำก่อน
B = งานที่มีความสำคัญเช่นกัน แต่รองลงไป ถ้าหากว่ามีเวลาก็ควรทำ
C = แม้ไม่ทำขณะนี้คงไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
5.2 วางแผน (Planning) คือ การตระเตรียมการสำหรับปฏิบัติงานตามแผน โดยไม่จำแนกว่าเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ การวางแผนมีความยากง่ายสลับซับซ้อนแตกต่างกันตามขอบข่ายของงานที่จะปฏิบัติ อาจทำในรูปแบบของตารางปฏิบัติงาน
5.3 การปฏิบัติตามตารางที่กำหนด (Projecting Schedule Time) คือ การทำงานตามแบบแผนที่กำหนดไว้ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตหลาย ๆ คำถาม แล้วคิดหาคำตอบและเหตุผลประกอบคำถามต่าง ๆ เหล่านั้น
ขั้นที่ 2 กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่เป็นจริงได้

6. กลยุทธ์การบริหารเวลา
6.1 เวลาและความสำคัญ
- ทบทวนดูว่าเสียเวลาไปกับงานนั้นมากเพียงใด คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปหรือไม่
- งานที่ต้องยืมอุปกรณ์ผู้อื่นทำ ให้รีบทำงานชิ้นนั้นก่อน
- ช่วงเวลาที่มีความสดชื่น ขอให้ปฏิบัติงานที่มีความยุ่งยากในช่วงนั้น
- ในกรณีที่มีการประชุม ควรใช้เทปบันทึกการประชุมแทน
- การรับโทรศัพท์ ควรพูดให้สั้น กระทัดรัด ชัดเจน และได้ใจความสมบูรณ์
- พิจารณาเอกสารต่าง ๆ ที่มาถึงให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว
- อย่าลังเลในการตัดสินใจ
- ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
- หากต้องการขอข้อมูลจากผู้อื่น ควรขอข้อมูลไว้ก่อนแม้ว่าจะไม่ถึงเวลาก็ตาม
- งานใดที่ต้องปฏิบัติใช้สมาธิมาก ๆ ควรกระทำช่วงเวลาที่มีความพร้อมที่สุด
6.2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสียเวลา
- ถูกขัดจังหวะในการโทรศัพท์
- ถูกขัดจังหวะโดยบุคคลต่าง ๆ
- การประชุมไม่มีประสิทธิภาพ
- การสื่อสารขาดประสิทธิภาพ
- ขาดการวางแผนที่ดี
- ปฏิเสธผู้อื่นไม่เป็น
- ให้ความสนใจไปเสียทุกเรื่อง
- ไม่ปฏิบัติงานให้เสร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป
- ขาดวินัยในตนเอง
- ใช้เวลาในการอ่านเอกสารมากเกินไป
6.3 เทคนิคการควบคุมการใช้เวลา
- มีสมาธิในการปฏิบัติงาน มีสติ
- จัดลำดับความสำคัญของงานก่อน-หลัง
- แบ่งงานที่ทำออกเป็นช่วง ๆ
- สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้เวลาราคาถูกทดแทนเวลาราคาแพง
- การใช้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพ
- ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน
- ลดงานเอกสารลง
- ลดการลงนามในเอกสาร
- ลดรูปแบบที่ไม่จำเป็นที่ไม่เกิดประโยชน์ออกไป