Friday, October 8, 2010

ปรับระบบความคิด พิชิตอัจฉริยะ โดย วนิษา เรซ

ที่มา
http://www.thaihrhub.com/index.php/seminars/view/2007-10-26-seminar-vanisa/

สรุปการบรรยายเรื่อง ปรับระบบความคิด พิชิตอัจฉริยะ โดย วนิษา เรซ จากการสัมมนาเครือข่ายสัมพันธ์สัญจรสู่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “เรียนรู้ที่จะคิด สร้างผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน” วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 ณ โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส จ.ขอนแก่น




วันนี้การเป็นอัจฉริยะจะไม่ใช่เรื่องยาก และไกลตัวอย่างที่ใครหลายคนคิด คนทุกเพศทุกวัย สามารถพัฒนาตนเองจนก้าวขึ้นเป็นอัจฉริยะได้ ซึ่งหัวใจของการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นอัจฉริยะนั้น ต้องเริ่มต้นที่ “สมอง” ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลเสมือนหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ สมองเปรียบเสมือนคลังแห่งการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากมายในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิต

ที่สำคัญสมองทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เพราะสมองเกิดขึ้นมาพร้อมกับการคิดค้นและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองว่าจะดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ของสมองออกมาใช้ได้อย่างไร ซึ่งหนูดีกล่าวถึงศักยภาพของสมองว่า..

“คนเรามีเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ ซึ่งเซลล์นี้เป็นเซลล์อัจฉริยะมาก เพราะว่าในหนึ่งแสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ซึ่งส่งข้อมูลถึงกันมีจุดเชื่อมต่อประมาณหนึ่งหมื่นจุด ดังนั้นเราจะบอกว่าเซลล์สมองของเรามีจำนวนมากกว่าดวงดาวในจักรภพเสียอีก สมองของทุกคนในโลกนี้มีความอัศจรรย์อันนี้อยู่ และสามารถทำงานได้ในส่วนที่เราไม่นึกเลยว่าเขาจะทำงานได้”

จากทฤษฎีของ Dr.Howard Gardner อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นดั่งเบ้าหลอมแนวคิดอันสำคัญ และถ่ายทอดความรู้ในด้านการจัดการสมองให้กับคุณวนิษาจนก้าวขึ้นเป็นผู้เข้าใจด้านอัจฉริยภาพอย่างแท้จริงคนแรกของเมืองไทย

“อัจฉริยภาพต้องผ่านการฝึกฝนนานมาก หลายคนคิดว่าคนเราเกิดมาแล้วเป็นอัจฉริยะ จริงๆไม่ใช่ มันอยู่ที่เราเลือกสิ่งที่เราชอบที่จะทำ และเราตั้งใจทำในสิ่งนั้น ไม่แปรเปลี่ยน หรือเลือกทำหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน แล้วทำให้ได้ดีหนึ่งหรือสองอย่าง แล้วอย่างอื่นเป็นองค์ประกอบในการเปิดเวลาที่ให้อัจฉริยภาพด้านอื่นๆได้เติบโตในระหว่างที่เราพัฒนาด้านหลัก”

จากการบ่มเพาะนิสัยรักการเรียนรู้มาตั้งแต่ในวัยเด็กทำให้ วนิษา เรซ เข้าใจถึง “การเรียนรู้เพื่อพัฒนา” ได้เป็นอย่างดี เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงแค่ในห้องเรียน การปลดปล่อยความคิด จินตนาการ และศักยภาพในการเรียนรู้นอกกรอบก็ได้เริ่มขึ้น ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นในการสร้างอัจฉริยะตัวน้อย ที่ครั้งหนึ่งได้สร้างให้คุณวนิษาเป็นผู้เปิดประตูแห่งความลับสู่การเป็นอัจฉริยภาพบนความเชื่อว่า

คนธรรมดาคนหนึ่งก็สามารถเป็นอัจฉริยะได้

ไม่ต่างอะไรกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

“หนูดีเรียนมาด้านสมอง และทำวิจัยด้านสมอง เพราะฉะนั้นหนูดีจะทราบว่า โดยธรรมชาติสมองมนุษย์ทำงานอย่างไร และถ้าเราจะเรียนรู้ เรียนรู้อย่างไรถึงได้ผล ให้เกิดศักยภาพสูงที่สุดในตัวผู้เรียนและในตัวคนสอนด้วย ดังนั้นจะบอกว่าโรงเรียนนี้เป็นลักษณะของโรงเรียนที่สอนตามธรรมชาติของสมองก็น่าจะเป็นได้”

การได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้ค้นพบและได้ค้นหาสิ่งใหม่ๆด้วยตนเองของเด็กๆใน โรงเรียนวนิษา อาจดูเหมือนไร้สาระ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นรู้แบบ “การเรียนรู้แบบบูรณาการ” ที่นำเอาเรื่องราวที่เด็กสนใจมาให้เด็กได้ลองทำ แล้วค่อยๆ สอดแทรกความรู้ทางวิชาการเข้าไปเชื่อมโยง เพื่อทำให้เด็กๆ ได้มีความสุขไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ มากกว่าการนั่งท่องจำในห้องเรียน เพราะที่โรงเรียนแห่งนี้เชื่อว่า..

การเรียนรู้ที่ดีต้องเริ่มต้นจากความสุข

“ถ้าเราไม่รู้การทำงานตามธรรมชาติของสมอง เราอาจจะบังคับให้เด็กต้องท่องจำเยอะๆ และไม่มีเทคนิคในการช่วย บังคับให้เด็กท่องอย่างเดียว เสร็จแล้วก็มีข้อสอบยากๆ และเหมือนกับการบังคับโดยไม่รู้ตัวให้เด็กต้องท่องหนังสือก่อนวันสอบ และไม่มีเวลาพักผ่อนที่แท้จริง แต่ถ้าเราเรียนด้านสมองเราจะทราบว่าอวัยวะบันทึกความจำของสมองจะทำงานเมื่อเราหลับ เพราะฉะนั้นถ้าเราบังคับให้เด็กท่องเยอะๆแต่ไม่ให้เขาพักผ่อนเพียงพอ เขาก็จะไม่สามารถมีความทรงจำระยะยาวได้เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน พอเรียนแล้วก็สอบเสร็จก็ลืม ซึ่งก็เป็นลักษณะปกติของนักเรียนทั่วไป คือสอบเสร็จแล้วลืม”

“แต่ว่าโรงเรียนของเราจะป้องกันไม่ให้เกิดตรงนั้น เพราะเราทราบว่าสมองทำงานอย่างไรในเรื่องความจำ หรือในเรื่องของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และอัจฉริยภาพ อารมณ์ต้องมาก่อน คือต้องมีอารมณ์ชอบ อารมณ์รักเกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียน เพราะว่าสมองส่วนอารมณ์หรือที่เรียกว่า limbic system ซึ่งเป็นตัวควบคุมสมองส่วนคิด เรียกว่า Executive Function ถ้าสมองส่วนอารมณ์ทำงานไม่สมประกอบ ไม่สมบูรณ์ สมองส่วนคิดก็ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะให้เด็กเรียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องทำให้เขามีความรู้สึกอยากเรียนก่อน แล้วเมื่อเรียนเขาจะเรียนได้เต็มที่ ใช้สมองได้เต็มที่ทั้งก้อน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ทราบ ก็จะคิดว่าสมองกับอารมณ์เป็นคนละเรื่อง จริงๆแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน” คุณวนิษากล่าว

ในวัยเด็ก หนูดี เป็นนักเรียนคนแรกของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีคุณแม่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน เพื่อฉีกหนีจากระบบการศึกษาของไทยที่ยังยึดติดอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ จากจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่เกิดจากการฝึกฝน และคิดอย่างสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็กของคุณวนิษา ทำให้เธอเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ มุมมองและแนวคิดที่แตกต่าง

ด้วยความต้องการจะเป็นคนเก่ง ฉลาด และต้องการรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คุณวนิษาเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาโทด้านการพัฒนาสมอง ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจกับระบบการทำงานของสมอง และค้นหาวิถีทางในการพัฒนาคนให้เป็นอัจฉริยะ และที่นี่เองที่ทำให้คุณวนิษารู้ว่า..

การพัฒนาตนเองให้เป็นอัจฉริยะ ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินตัว

จากนักเรียนคนแรกในโรงเรียนที่สอนให้คิดนอกกรอบของคุณแม่ วันนี้หนูดีได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร ทำหน้าที่จัดวางหลักสูตรการสอนที่เหมาะสมกับการทำงานของสมอง วางรากฐานในอนาคตให้กับเยาวชนตัวน้อยๆ ของชาติ ซึ่งจะเติบโตเป็นอัจฉริยะที่มีความสุข ซึ่งการศึกษาด้านการพัฒนาสมองทำให้หนูดีค้นพบว่า...

“สมองของเราทำอะไรได้อีกหลายอย่างมากที่เราไม่เคยรู้ และสมองมีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ดีมาก ศัพท์วิชาการเรียกว่า Plasticity คือความยืดหยุ่นของสมอง เช่นถ้าหนูดีเกิดความทุกข์ขึ้นในใจอย่างหนึ่ง แล้วรู้สึกไม่เห็นทางออกเลย หนูดีไม่รู้ว่าจะคิดยังไงให้หนูดีหายทุกข์ได้”

“แต่หนูดีรู้ว่าข้อมูลทางสมองบอกว่า ในการเปลี่ยนแปลงเส้นใยสมองเราจะใช้เวลาประมาณ 21 วันถึงหนึ่งเดือน ดังนั้นหนูดีก็จะคิดว่าเรื่องนี้มันใหญ่มาก อยากจะปล่อยให้ตัวเองทุกข์ได้ซักนิดนึง แต่หนูดีจะค่อยๆปรับแบบแผนพฤติกรรมของหนูดีเพื่อสร้างเส้นใยสมองใหม่ๆให้หนูดีคิดอย่างมีความสุขมากขึ้น และมันก็ได้พิสูจน์ว่ามันทำได้ทุกครั้ง เลยรู้ว่าจริงๆแล้วถ้าคนเรารู้เรื่องสมอง จะรู้ว่าไม่มีอะไรต้องกลัวเลย เพราะสมองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และเราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้ มีความสุขขึ้นได้ทุกวัน” หนูดีกล่าวถึงศักยภาพของสมองซึ่งทุกคนสามารถสร้างและพัฒนาสมองด้วยตนเองได้

นั่นแสดงให้เห็นว่าการเป็นอัจฉริยะนั้นสามารถสร้างและพัฒนาขึ้นมาได้ การเป็นอัจฉริยะไม่ได้เกิดมาจากพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด หากแต่เกิดมาจากการเรียนรู้และฝึกฝน คนทุกคนมีความสามารถจะพัฒนาตนเองสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ

การค้นหาความเป็นอัจฉริยะในตัวของเราเองนั้น จะต้องเริ่มต้นจาก “ค้นหาใจตัวเอง ว่าเรานั้นชอบอะไร และอยากทำอะไร” เพราะสิ่งเหล่านั้นจะเป็นบันไดขั้นแรกที่นำเราไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ดังที่คุณวนิษากล่าวไว้ว่า...

“ถ้าพูดตามทฤษฎีอัจฉริยภาพก็จะบอกว่าคนเรามีอัจฉริยภาพในตัวอยู่แล้วทุกคน ไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอกเพื่อไปเอาความเก่งมา หน้าที่ของเราคือจัดสภาพแวดล้อมให้มันเอื้อให้อัจฉริยภาพนั้นๆ แสดงตัวออกมา ยกตัวอย่างเช่น หนูดีเป็นคนชอบเต้น ชอบใช้ร่างกาย ชอบเล่นกีฬา ถ้าหนูดีไม่จัดเวลาของหนูดีให้ได้ยิงธนู ให้ได้พายเรือแคนู ให้ได้เล่นโยคะ ให้ได้เต้นบัลเล่ต์ หนูดีก็จะไม่รู้ว่าหนูดีมีอัจฉริยภาพด้านนั้นอยู่ ก็เท่ากับว่ามันก็ปิด เก็บล็อคอยู่ในตัวหนูดี หรือสมมติถ้าหนูดีไม่บินไปอเมริกา ไม่ไปเรียนด้านสมอง หนูดีก็ไม่รู้ว่าหนูดีทำได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดอยู่ที่เราจัดสถานการณ์ให้มันแสดงสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้มันแสดงออกมา”

หลายคนอาจไม่รู้ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมๆกับอัจฉริยภาพทั้งแปดด้าน และความเป็นอัจฉริยะที่มีก็ไม่ได้อยู่ไกลตัวอย่างที่คิด แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันของเราที่เป็นอยู่ หากเราเปิดมุมมองการเรียนรู้อย่างหลากหลายก็สามารถพัฒนาตัวเองสู่การเป็นอัจฉริยะได้

“ความเป็นอัจฉริยะที่อาจารย์ Howard Gardner พบทั้ง 8 ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย 1.อัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร 2.อัจฉริยภาพด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 3.อัจฉริยภาพด้านมิติสัมพันธ์และการจิตนาการ 4.อัจฉริยภาพด้ายตรรกะและคณิตศาสตร์ 5.อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง 6.อัจฉริยภาพด้านมนุษย์สัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น 7.อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจธรรมชาติ และ 8.อัจฉริยภาพด้านดนตรีและจังหวะ อัจฉริยภาพ 7 ใน 8 ด้านที่ค้นพบเป็นเรื่องของ How to เช่น ทำอย่างไรถึงจะเก่งภาษา ทำอย่างไรถึงจะเก่งคณิตศาสตร์ ทำอย่างไรถึงจะเคลื่อนไหวร่างกายเก่ง ทำอย่างไรถึงจะร้องเพลงเก่ง เป็นต้น แต่มีอยู่ด้านเดียวซึ่งเป็นคำว่า Why คือทำไม ซึ่งนั่นก็คือ อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง”

“ถ้าเรามีอัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง ไม่ต้องกังวลเลยว่าสังคมนี้จะมีคนเก่งและก็เอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ทำร้ายกัน เพราะถ้าเราเข้าใจตนเอง เราก็จะเข้าใจสังคม เราเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างที่ไม่สามารถตัดขาดออกจากกันได้ และเราจะรู้ว่าเราควรทำอะไรต่อไปในชีวิต เราจะมีความสามารถในการนั่งลงนิ่งๆ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่าชีวิตเราดำเนินมาถึงจุดนี้แล้วเรายังจะดำเนินต่อไปในเส้นทางนี้หรือไม่ หรือมีเส้นทางอื่นให้เราเดิน ในระหว่างทางที่เราเดิน เราจะจูงมือใครไปด้วยบ้าง เราจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้บ้าง ใครจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้บ้าง”

“หนูดีว่าถ้าทุกคนมีอัจฉริยะด้านการเข้าใจตนเอง สามารถทำให้สังคมเป็นสังคมซึ่งมีคุณภาพมาก และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยที่สามารถใช้สมองได้อย่างเต็มศักยภาพ”

แนวคิดและกระแสอัจฉริยะสร้างได้ของ คุณวนิษา เรซ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการจุดประกายในการพัฒนาในเรื่องของศักยภาพบุคคลทุกๆวงการ ไม่ว่าจะเป็นคนในบริษัททั้งของภาครัฐและเอกชน หรือแม้กระทั่งวงการศึกษาก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรไม่แพ้กัน ซึ่งในการบรรยายเรื่องที่เกี่ยวกับอัจฉริยะสร้างได้ของคุณวนิษา แต่ละครั้งมักจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

การได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคมได้หันมาสนใจและใส่ใจเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของตนเอง การฝึกฝนและพัฒนาความสามารถอย่างหลากหลาย เป็นสิ่งที่คุณวนิษาตั้งเป้าหมายไว้ เพราะสำหรับเธอแล้วการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ...การได้พัฒนาคน

ถึงแม้ว่าดอกผลแห่งความทุ่มเทของคุณวนิษา ทั้งในโรงเรียนวนิษาและในการกระตุ้นให้คนในสังคมไทยตื่นตัวในเรื่องของการพัฒนาตนเองเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นอัจฉริยะ จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ของการดำเนินการอย่างชัดเจน แต่ในวันนี้ คุณวนิษา เรซ นับได้ว่าเป็นต้นแบบแนวคิด และเป็นแรงบันดลใจที่สำคัญในการจุดไฟแห่งการพัฒนาศักยภาพของคนในสังคมให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในแนวทางของการพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

No comments: