Wednesday, September 29, 2010

โรคไมเกรน

อาจเกิดจากอาการเครียดจากหน้าที่การงาน หรือโรคภัยอย่างอื่น
เป็นไมเกรน หรือไม่เป็น ควรหยุดงานสักวัน และ อ่านขัอมูลข้างล่าง

นายภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) กล่าวถึงอาการไมเกรนที่พบผู้ป่วยเป็นกันมาก ว่า ไมเกรน คือ โรคปวดศีรษะที่เกิด จากการหดและขยายตัวอย่างผิดปกติของเส้นเลือดแดงบริเวณศีรษะ
ผู้ที่เป็นไมเกรนจะมีอาการปวดศีรษะตุบๆตามชีพจร ปวดอยู่ข้างเดียว บางครั้งอาจสลับข้าง น้อยรายที่พบว่าจะปวดศีรษะ 2 ข้างพร้อมกัน บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น มือไม้ เย็น รู้สึกไวต่อแสงสว่างและเสียงด้วย ซึ่งอาการปวดศีรษะที่เป็นอาจคงอยู่เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือนานเป็นเดือนก็มี ไมเกรนส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นปัญหาของวัยรุ่น และคนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงอายุหลายเท่า
นายภักดีกล่าวว่า สำหรับสาเหตุและกลไกการเกิดอาการของไมเกรนยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนัก จึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแค่ยาบรรเทา หรือป้องกันอาการปวดได้ โดยอาจรับประทานยากลุ่มบรรเทาปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ฯลฯ ซึ่งเป็นยาที่ทุกครอบครัวมักมีอยู่ประจำบ้าน
นายภักดีกล่าวต่อว่า ยังมีวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน ลด และบรรเทาอาการปวด โดยไม่ต้องพึ่งยาด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

ประการแรก ต้องพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ไม่นอนดึกจนเกินไป เพราะหากพักผ่อนน้อย นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแล้ว ยังจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้ออีกด้วย

ประการที่สอง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิก หรือการว่ายน้ำ เป็นต้น โดยทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีติดต่อกัน

ประการที่สาม ต้องมีการควบคุม หรือวิธีการขจัดความเครียด โดยการหาเวลานั่งพัก หลับตา หยุดคิดเรื่องราวต่างๆ และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือการทำสมาธิ ฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก อย่างมีสติ

ประการที่สี่ ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ อย่าอดอาหาร และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน จำพวกแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง รวมทั้งหลีกเลี่ยงผงชูรส เนย นม ช็อกโกแลต กล้วยหอม ผลไม้ประเภทส้ม กาแฟ และชา

ประการที่ห้า หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ เช่น สถานที่ที่มีแดดจัด อากาศร้อน เสียงดัง ไฟกะพริบ หรือหลีกเลี่ยงกลิ่นที่รุนแรง เช่น กลิ่นน้ำหอม และกลิ่นบุหรี่ เป็นต้น ประการที่หก งดการสูบบุหรี่

และประการสุด ท้าย หากเกิดอาการปวด ควรลดหรือบรรเทาอาการปวดไมเกรน โดยรีบใช้ น้ำแข็งประคบ โดยนำผ้าขนหนูห่อก้อนน้ำแข็งไว้ แล้วนำมาลูบช้าๆ บริเวณที่ปวด ก็จะทำให้ รู้สึกดีขึ้นได้ หรือจะใช้ น้ำมันสะระแหน่นวดบริเวณที่ปวด.
.........................................................................................................................................................

“ปวดหัว” หรือ “ปวดศีรษะ” ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรคหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งกว่าจะหาสาเหตุได้ก็ต้องใช้เวลานาน
อาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากโรคที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นโลหิตแตก พยาธิ อาการมักเป็นรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องรีบไปหาแพทย์รักษา แต่ปวดหัวจากความวิตกกังวล ความเครียด ความคิดถึง ความเป็นทุกข์ นอกจากจะหาตำแหน่งและเวลาปวดที่แน่นอนไม่ค่อยได้ ยังเกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับ กินไม่ได้ หงุดหงิด

การช่วยเหลือถ้ามีบุคคลในบ้านปวดหัว ปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ใหญ่ให้รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล 2 เม็ด สำหรับเด็กกินครั้งละ 1 เม็ด ถ้ายังไม่หายรับประทานซ้ำได้อีกห่างจากครั้งแรก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 3 วัน

2. ถ้าอากาศร้อน ให้อยู่ในที่ลมโกรก หรือเปิดพัดลม หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ นั่งเอน หลับตา หรือนอนหลับตาสักครู่ อาจทำให้หลับไปหายจากอาการปวดหัวได้

3.ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือผ้าเย็นวางบริเวณที่ปวด

4. หาสาเหตุจากการซักถาม ได้แก่

- ปวดฟันหรือไม่ เพราะถ้าปวดฟันหรือฟันผุ การเจ็บปวดจะติดต่อถึงกันได้ รักษาฟัน ปวดหัวก็หาย

- กำลังมีประจำเดือนหรือไม่ เพราะระยะมีประจำเดือนระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนไป อาจปวดหัวได้ ให้ยาแก้ปวดหัว พอหมดระยะประจำเดือนก็หาย

- รับประทานยาคุมกำเนิดหรือไม่ เพราะบางคนอาจปวดหัวจากปฏิกิริยาของฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด ที่รับประทานนานเกินไป หรือเพิ่งรับประทานใหม่ๆ ซึ่งถ้าเป็นบ่อย ไม่ทุเลาลงควรเปลี่ยนวิธีหรือถ้ามีบุตรเพียงพอแล้ว แนะนำให้ทำหมันเลย

- อดนอนหรือไม่ การอดนอนทำให้ประสาทตึงเครียด

- หิวข้าวหรือไม่ บางครั้งการอดอาหารทำให้น้ำตาลไปเลี้ยงสมองไม่พอเกิดการปวดหัว ให้ดื่มน้ำหวานหรืออมทอฟฟี่ แล้วรับประทานอาหาร ถ้าหายก็แสดงว่าใช่

- มีอาการตามัว ตาพร่า อาเจียนพุ่ง ต้องรีบนำส่งสถานพยาบาล เพราะอาจเกิดจากโรคของสมองได้

- วิตกกังวลหรือไม่ เศร้าเสียใจหรือไม่ ข้อนี้ต้องมีวิธีการซักถาม เพราะบางครั้งผู้ถูกถามอาจจะสะเทือนใจหรืออาย จึงปิดบังไม่ตอบความจริง แต่ถ้าอยู่บ้านเดียวกัน อาจทราบเหตุการณ์ดี ดังนั้นเมื่อให้กินพาราเซตามอลแล้ว อาจให้ไดอะซีแพม 2 มิลลิกรัม 1 เม็ดก่อนนอนด้วย และพยายามปลอบโยน ใช้สมาธิและปัญญาเข้าช่วย

- สายตาผิดปกติหรือไม่ ประเภทนี้มักปวดหัวตอนอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ แนะนำให้ไปตรวจสายตา
- เจ็บคอ เป็นหวัด เป็นไข้ แพ้อากาศ เหล่านี้ต้องรักษาให้หาย

5. ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ ถ้าเป็นโรคให้รักษา ถ้าไม่ใช่ให้หลีกเลี่ยงหรือสู้

6. ถ้าปวดหัวแล้วกลับจากงานอาจเกิดจากอ่อนเพลีย เมารถ เมาอากาศ ให้อาบน้ำสระผม และนั่งพักอาการจะดีขึ้น ถ้าคร่ำเคร่งกับหนังสือกับหนังสือให้ลุกขึ้นเดิน สูดหายใจเข้ายาวๆ มองไปไกลๆ ถ้าเป็นทุ่งนา ทุ่งหญ้ายิ่งดี และกลอกตาไปมาเป็นการบริหารกล้ามเนื้อตาที่เครียดด้วย

7. แต่ถ้าแนะนำทั้งหมดแล้วยังเหมือนเดิม ควรแนะนำต่อไปคือ ให้ไปสถานพยาบาลเพื่อได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง

No comments: